2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๓๙ บทสรุป ตอนที่ ๓ "ภพ-ชาติ คืออะไร"

๓.๓  ภพ-ชาติ คืออะไร

        “ภพ คือ การกำหนดสถานที่ที่เราจะไป 
            ชาติ คือ การที่เราได้ไปถึงสถานที่นั้น
       คำว่า ภพ และ ชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของฝ่ายจิตเป็นสำคัญ  ภพชาตินี้ก็เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดำเนินอยู่  ทุกคนจะต้องมีการก่อภพชาติเป็นของธรรมดา   
            เมื่ออธิบายโดยนัยของ การมีอัตตา นั้น ก็มีการก่อภพชาติไปเรื่อยๆ ด้วยความยึดติดว่าตนเองมีตัวตนอันถาวร เช่น ทำบุญหรือบาปไว้ แล้วก็จะมีตัวตนไปรับผลบุญหรือบาปนั้น 
            เมื่ออธิบายโดยนัยของ การหมดอัตตา ขณะที่ยังดำเนินชีวิตอยู่นั้นก็มียังการก่อภพชาติเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่จะเป็นผู้รับผลบุญหรือบาปนั้น
            เรื่องภพชาตินี้ควรแยกอธิบายเป็น ๒ ระดับ คือ

          ๓.๓.๑  ภพ-ชาติ ในระดับกว้าง (ชาติก่อน-ชาตินี้-ชาติหน้า)
          ก็คือการตายแล้วเกิดใหม่ อย่างที่เป็นความเชื่อของคนทั่วไปส่วนใหญ่ ตายจากอัตภาพนี้ก็ไปเกิดเป็นอัตภาพใหม่ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่
            ในระดับนี้ การเป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นตามได้ยาก แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังไม่ตอบตรงๆ ว่าชาติหน้ามีหรือไม่  พระองค์ตอบว่า มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่  ซึ่งเป็นการตอบอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด  ลองคิดดูว่า ถ้าพระองค์ตอบว่า มี พวกที่เต็มไปด้วยความโลภก็จะขวนขวายในการสร้างภพเอาไว้ เพราะหวังจะไปเกิดในภพนั้นตามปรารถนา  ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่สามารถกำหนดให้ชัดเจนลงไปได้ว่าจะไปเกิดในภพไหน (อย่างที่เราเกิดมาในชาตินี้ เรากำหนดไว้ก่อนอย่างนั้นหรือ?)  มันเป็นแค่ความเสี่ยงเท่านั้นเอง  แล้วยิ่งกว่านั้นคนที่สติปัญญาน้อยก็จะตกเป็นเหยื่อของพวกฉวยโอกาส ซึ่งตั้งท่ารอจะหลอกลวงว่าสามารถกำหนดภพชาติถัดไปได้ 
            ถ้าพระองค์ตอบว่า ไม่มี  โลกนี้คงจะร้อนเป็นไฟเลยทีเดียว เพราะความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งกันมากยิ่งขึ้น  เพราะในเมื่อชาติหน้าไม่มี  ดังนั้นถ้าอยากได้อะไรก็รีบหาทางเอามาให้ได้ในชาตินี้  เพราะคิดว่าตายแล้วก็จบกัน  หรือคนที่เจอกับเรื่องเดือดร้อนใจ ไม่อยากจะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป ก็ทำการฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าตายแล้วก็จบกัน  ระบบศีลธรรมคงจะเสื่อมไปโดยเร็ว เพราะคิดว่าไม่มีชาติหน้า พอเอาตัวรอดในชาตินี้ได้ก็หลงดีใจแล้ว
            แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เรากำหนดภพชาติตามใจหรือตามความอยากของเราไม่ได้  แม้ว่าเราจะสร้างบุญอันเป็นเหตุสนับสนุนให้มีโอกาสเกิดในภพที่ดี  หรือเราจะสร้างบาปซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนให้มีโอกาสเกิดในภาพไม่ดี  เพราะเหตุปัจจัยแห่งการเกิดภพชาติใหม่นั้นมันขึ้นกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า จุติจิต คือการเคลื่อนของจิตจากรูปกายนี้ไปสู่รูปกายใหม่  ซึ่งมันจะเป็นไปตาม สภาพจิตในช่วงขณะนั้น (วัดเป็นระยะเวลาก็คือเสี้ยววินาที หรือแค่กระพริบตา)  ถ้าสภาพจิตกำลังเจือปนหลงกับอารมณ์ที่เป็นอกุศลในขณะนั้นมันก็ไปเกิดในภพที่ไม่ดี  แต่ถ้าสภาพจิตกำลังเจือปนหลงกับอารมณ์ที่เป็นกุศลในขณะนั้นมันก็ไปเกิดในภพที่ดี  ถ้าคนไม่เคยฝึกฝนให้รู้เรื่องกลไกของสภาพจิตของตน  มันก็เหมือนกับจับเกมวัดดวง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ คำสอนจากพระโอษฐ์) ก็ขนาดพระโพธิสัตว์ซึ่งเจริญแต่กุศลเป็นส่วนใหญ่ ก็ยังกำหนดให้ชัดเจนแน่นอนไม่ได้ว่าชาติต่อไปจะไปเกิดเป็นอะไร
            นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับการสร้างภพชาติ  แต่หลักทางพุทธศาสนาที่แท้จริง ไม่ได้สอนให้เราสร้างภพชาติ  พระพุทธเจ้าตรัสรู้และบอกสอนทางให้บรรลุถึงสภาพที่เรียกว่า นิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดแห่งภพชาติ  นี่คือประเด็นสำคัญที่ควรตอกย้ำ  เพราะการเกิดในแต่ละชาตินั้น ล้วนนำมาซึ่ง ความชรา  ความเจ็บป่วย  ความผิดหวัง  ความพลัดพราก  และความตาย  ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีใครหลีกเลี่ยงสิ่งดังกล่าวได้

          ๓.๓.๒  ภพ-ชาติ ในระดับละเอียด (ปัจจุบันขณะ)
          ภพชาติในระดับละเอียดนี้ หมายถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยสามารถเห็นการมีภพชาติได้ในแค่เสี้ยววินาที ยกตัวอย่าง เช่น
            การเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งไปเป็นลุกยืน นี่ก็นับได้ว่าเป็นการเกิดภพชาติหนึ่งแล้ว  เราสร้างภพก็คือเรามีความอยากว่าจะเลิกนั่งแล้ว เช่น จะลุกไปหยิบของ หรือรู้สึกว่าเจ็บก้นมากก็เลยจะลุกขึ้น ฯลฯ  ทีนี้พอเราลุกขึ้นยืนนั่นก็คือเราเกิดชาติใหม่แล้ว
            ซึ่งในชีวิตประจำวันของเราแต่ละขณะ เราลองพิจารณาดูจะเห็นว่า เราไม่เคยอยู่นิ่งๆ เลย  จิตของเราสั่งให้รูปมีการเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดวัน  ฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็นับไม่ถ้วนเลยว่าเราตายแล้วเกิดกี่ภพกี่ชาติ  แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดภพชาติระดับนี้ถือว่าเป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่กับทุกชีวิต 
          “ปัญหามันเกิดขึ้นก็ตรงที่ เราไม่ยอมรับกฎธรรมชาติข้อนี้  ดังนั้น หลักคำสอนทางพุทธศาสนาจึงชี้อธิบายเพื่อให้เราเข้าใจและยอมรับกฎธรรมชาติหรือความจริงที่ว่า ทุกสิ่งมีสภาพเป็นทุกข์ คือไม่คงที่ ไม่คงทน (อ่านเพิ่มเติมใน ทุกขสัจจะ)  เมื่อเราเข้าใจและยอมรับแล้ว อย่างน้อยเราก็คือสามารถลดความเดือดร้อนใจในชาติปัจจุบันได้บ้าง  หรืออย่างสูงก็คือสามารถมีสภาพจิตที่เป็น นิพพาน ได้อย่างถาวร แม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

            เรื่องของภพชาตินั้นแม้จะแยกอธิบายเป็น ๒ ระดับ แต่ความจริงนั้น เป็นปรากฏการณ์อันเดียวกัน กล่าวคือ การจุติจิต ก็มีอาการหรือกลไกเหมือนกับ การเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งไปเป็นลุกยืน  เพียงแต่ว่าการจุติจิตมันเกิดขึ้นในเวลาที่เราจะทิ้งรูปกายเดิมไปสู่รูปกายใหม่อย่างถาวร  อุปมาอุปไมยแล้วก็เหมือนกับเรานับหน่วยของเวลา  วินาทีที่ ๑ ถึง วินาทีที่ ๖๐ เราก็สมมติจัดว่ามันเป็น นาทีที่หนึ่ง  พอเรานับวินาทีถัดไป เราไม่นิยมนับว่า วินาทีที่ ๖๑  แต่เรากลับสมมติจัดให้มันเป็น นาทีที่สอง  แต่ถ้ามองโดยภาพรวมเฉพาะหน่วยวินาที มันก็คือวินาทีที่ ๖๑  ซึ่งมันก็เป็นการนับต่อจากวินาทีที่ ๖๐  ความแตกต่างกันมันก็มีค่าเพียง ๑ วินาที  นั่นคือ ถ้าเราตัดคำศัพท์สมมติที่ว่า นาที ทิ้งไปจากระบบการนับเวลา  มันก็จะมีแค่หน่วยการนับที่เป็น วินาที เพียงอย่างเดียว  พูดเปรียบเทียบก็คือ คำว่า นาที ก็คล้ายกับ คำว่า ชาติ (ชาติก่อน-ชาตินี้-ชาติหน้า ตามภาษาชาวบ้านทั่วไป)  ส่วนคำว่า วินาที ก็คล้ายกับ คำว่า เกิด-ดับ (ในปัจจุบันขณะนี้  หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งมันก็คือ อนิจจัง หรือทุกข์ นั่นเอง)

            แต่ก็มีบางคน แม้จะรู้เรื่องกฎเกี่ยวกับภพชาติ แต่เขาก็ยังปรารถนาที่จะสร้างภพชาติต่อไปอีก เพราะมีจุดประสงค์บางอย่าง เช่น ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็พอใจที่จะเกิดแล้วเกิดอีกเพื่อสร้างกุศลกรรมอันจะส่งผลให้ท่านบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็มีหลายระดับ  ถ้าหากมีความตั้งมั่นไม่พอก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจได้  แต่ถ้ามีความตั้งมั่นมากๆ ก็นิยมเรียกกันว่า พระโพธิสัตว์ อย่างที่เราได้ยินกันหลายๆ ชื่อ  แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเรียกว่ามีความติดข้องอันเป็นเหตุให้ยังคงสร้างภพชาติต่อไป (อีกมากมายเท่าไรไม่รู้)  ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดอะไร เพราะเป็นเจตนารมณ์ส่วนบุคคล  อีกอย่างคือบุคคลเหล่านี้ท่านก็มีคุณธรรมสูง และมุ่งกระทำแต่กุศลกรรม  ส่วนผู้ที่เป็น อริยบุคคล (โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี) ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์  ท่านเหล่านี้ก็จะสร้างภพชาติต่อไปอีกไม่นาน แล้วก็จะสิ้นสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น