2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๐ บทสรุป ตอนที่ ๔ "พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร"

๓.๔  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

            ถ้าจะกล่าวให้ชัดๆ ตรงๆ เรื่องเดียวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็คือสัจจะสี่ประการ เรียกว่า อริยสัจ ๔ (ทุกขสัจจะ สมุทัยสัจจะ นิโรธสัจจะ มรรคสัจจะ) เท่านั้น  โดยท่านได้ใคร่ครวญพิจารณาหลักปฏิจจสมุปบาท จนเห็นการเกิด-ดับของขันธ์ห้า และเห็นความยึดมั่น(อุปาทาน)ในขันธ์ห้า แล้วท่านก็ทำลายความยึดมั่นในขันธ์ห้านั้นเสียได้ นั่นจึงเรียกว่าท่านได้ตรัสรู้ (อาสวักขยญาณ) และท่านก็รู้กระบวนการทั้งหมดอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจึงนำมาบอกสอนผู้อื่นต่อไป
            แต่ถ้าหากจะพูดถึงว่าพระพุทธเจ้าได้รู้เรื่องอื่นอะไรอีกบ้าง นั่นจึงควรจะขยายความออกไปว่าท่านได้รู้อีกหลายเรื่อง เช่น  รู้อดีตชาติ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)  รู้การเกิด-ตายของสัตว์ (ทิพยจักษุญาณ)  แล้วก็ยังรู้เรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย  แต่ท่านก็ได้คัดเลือกนำมาสอนเพียงบางส่วนเฉพาะเท่าที่เห็นว่าเหมาะควรในแต่ละสถานการณ์  ดังที่ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ใบไม้ทั้งป่า ท่านหยิบมาสอนแค่กำมือเดียว  อย่างที่ท่านไปสอนปัญจวัคคีย์ ท่านก็สอนเฉพาะเรื่องอริยสัจสี่และมรรคมีองค์แปด
            สำหรับ อริยสัจ ๔ หรือ สัจธรรม ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าบอกสอนนั้น  มีโบราณจารย์อธิบายกันไว้หลายนัย  แต่สำหรับแง่มุมที่ควรจะกล่าวอธิบายกันให้ชัดเจน มีดังนี้

            ข้อที่ ๑  ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขัง  คือ สัจจะหรือความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีสภาพไม่คงที่ ไม่คงทน ไม่อาจเป็นอยู่อย่างเดิมตลอดกาล แปรปรวนไปเรื่อย จะเรียกอีกชื่อหนึ่งก็ได้ว่า อนิจจัง  ซึ่งการแปรปรวนนี้มันก็เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ อันสลับซับซ้อน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอันเดียว มันจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การบงการของใครอย่างแน่แท้ จึงเรียกสภาพนี้อีกชื่อหนึ่งได้ว่า อนัตตา”  ดังนั้น คำว่า ทุกข์ นั้นจึงเรียกว่าเป็น สภาพทุกข์ตามธรรมดา เป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติทุกสิ่งก็มีสภาพทุกข์อยู่อย่างนี้ 
            แต่ว่าคนทั่วไปไม่ยอมรับกฎนี้ จิตใจจึงมีสภาพเป็นอัตตา คือคิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ และอยากให้มันอยู่ในอำนาจของเรา  ก็เลยเป็นเดือดเป็นร้อน ทำให้ สภาพทุกข์ตามธรรมดา กลายเป็น สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา
            โดยทั่วไปมีกล่าวว่า เกิด(ขึ้นมา) แก่ เจ็บ ใกล้ตาย โศกเศร้า ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ พลัดพราก ปรารถนาแล้วไม่ได้ตามนั้น  เหล่านี้เป็นทุกข์ ตามภาษาที่คนทั่วไปพอเข้าใจได้  แต่สิ่งดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งที่ท่านตรัสรู้จนได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า มันเป็นเพียงโจทย์ที่ท่านตั้งต้นไว้ จะเห็นได้จากตอนที่ท่านตัดสินใจออกบวชนั้น เป็นเพราะท่านเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วท่านก็อยากจะหาวิธีพ้นจากสิ่งเหล่านี้  ท่านจึงออกบวช แล้วก็ค้นหา จนเมื่อเวลาผ่านไปอีก ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้อริยสัจสี่ประการ  แต่อย่างไรก็ตามสิ่งทั้งหลายดังกล่าวนั้นก็มีสภาพเป็นทุกข์ตามธรรมดาอย่างที่ท่านตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งมีสภาพเป็นทุกข์ (ไม่คงที่ ไม่คงทน ฯลฯ ... อนิจจัง ... อนัตตา)

            ข้อที่ ๒  สมุทัยสัจจะ  คือ สัจจะหรือความจริงเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์  ซึ่งทั่วไปก็บอกไว้ว่าคือ ความอยาก ได้แก่ อยากมี  อยากไม่มี (ไม่อยากมี)  อยากเป็น  อยากไม่เป็น (ไม่อยากเป็น)  เมื่อเกิดความอยากก็ทำให้อยู่ในสภาพคงที่ไม่ได้ ต้องมีการขยับเกิดขึ้น  แต่ถ้าคิดให้ลึกเข้าไปอีก ก็จะแยกได้เป็นสองนัยเหมือนกัน คือ เหตุให้เกิด สภาพทุกข์ตามธรรมดา  และ เหตุให้เกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา   
            เพียงแต่ประเด็นสำคัญมันไปเน้นอยู่ที่เหตุให้เกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา”  ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากความหลงผิดที่คิดว่า เรามีตัวตน หรือ มีอัตตา
            ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อร่างกายเจ็บป่วย แน่นอนว่ามันก็เป็น สภาพทุกข์ตามธรรมดา (คือสภาพร่างกายไม่คงที่ มันแปรปรวน)  แต่เรากลับรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับการที่ร่างกายเจ็บป่วย และคิดว่ามันไม่น่าเกิดขึ้น หรือมันจะต้องบำบัดรักษาให้กลับมามีร่างกายแข็งแรงตามเดิมได้แน่ๆ  แต่พอทำการรักษาแล้วมันไม่หายเจ็บป่วย  เราก็ยิ่งรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนมากขึ้น  นั่นเป็นเพราะอะไร  ก็เป็นเพราะเราคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวตนของเรา เราจึงหวงมัน เราไม่อยากให้ร่างกายเราเป็นโรค  เราอยากให้มันแข็งแรงคงทนตลอดกาล  เราไม่ยอมรับความจริงที่ว่า ร่างกายมันเป็นวัตถุที่แปรปรวนตามเหตุปัจจัยต่างๆ  จุดนี้เองที่มันเป็นปัญหา หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา 

            ข้อที่ ๓  นิโรธสัจจะ  คือ สัจจะหรือความจริงที่ว่า มีสภาพ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพที่จิตใจว่างจากความรู้สึกที่เป็นอัตตา (เรียกว่า อนัตตา)  และโดยปกติตามธรรมชาติ ทุกสิ่งมีสภาพเป็นอนัตตา อยู่แล้ว  ถ้าเราเข้าใจและยอมรับตามนั้นได้ มันก็ นิพพาน  สำหรับสภาพที่จิตใจเป็นนิพพานนั้นโดยทั่วไปมันก็เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ เพียงแต่มันเกิดเป็นครั้งคราว  แต่สำหรับหลักทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าท่านค้นพบวิธีการที่จะทำให้เกิดสภาพนิพพานได้ อย่างถาวร
            อธิบายต่อจากกรณีที่ว่า เมื่อร่างกายเจ็บป่วย  ถ้าเราเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ร่างกายมันเป็นวัตถุที่แปรปรวนตามเหตุปัจจัยต่างๆ ตามกฎธรรมชาติ (ทุกสิ่งมีสภาพทุกข์)  แม้ว่าร่างกายจะเกิดอาการเจ็บป่วย แต่สภาพจิตใจก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนตามไปด้วย  จิตใจมันก็เย็น(นิพพาน)อยู่ได้  และเราก็พยายามบำบัดโรคนั้นไปตามสติปัญญาอันชอบ  ส่วนผลที่ได้ มันจะหายก็หาย หรือมันจะไม่หายก็ไม่หาย  ก็ยอมรับและเข้าใจตามเหตุผลนั้น  จิตใจมันก็ยังมีสภาพเย็น(นิพพาน)อยู่ตลอดเวลา

            ข้อที่ ๔  มรรคสัจจะ หรืออริมรรคมีองค์แปด คือ สัจจะหรือความจริงที่ว่าด้วย วิธีการที่จะทำให้จิตใจมีสภาพเป็นนิพพานอยู่ตลอดเวลา  หรือไม่มีความรู้สึกว่า เรามีตัวตน หรือไม่มีความรู้สึกว่าเป็น สภาพรูปนามที่มีอัตตา  ซึ่งพุทธศาสนาสอนให้ ทำลายสภาพอัตตานี้โดยวิธีการปฏิบัติตาม มรรคมีองค์แปด”  (ได้แก่  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

สัจธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือ หลักการซึ่งเป็นกฎความจริงของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แล้วก็นำมาบอกสอนคนอื่นต่อมา  มีผู้พิสูจน์โดยการศึกษาและปฏิบัติตามนั้น แล้วก็เกิดผลตามนั้น  เมื่อใครปฏิบัติตามก็สามารถที่จะสัมผัสรสชาติตามนั้นได้ทันที แต่จะสัมผัสได้มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความเข้าใจในหลักการและปฏิบัติได้ตรงหลักการมากเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น