3 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๖ บทสรุป ตอนที่ ๑๒ "การแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ แบบพระพุทธเจ้า และแบบพระโพธิสัตว์"

๓.๙  การแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ แบบพระพุทธเจ้า และแบบพระโพธิสัตว์

          ปัญหาเรื่องทุกข์ในที่นี้ หมายถึง ปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจของคนทั่วไป (ทุกข์เข็ญ)

          การแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ด้วยหลักการของพระพุทธเจ้า ก็คือ เมื่อท่านตรัสรู้หลักความจริงสี่ประการ (อริยสัจสี่) หรือกฎธรรมชาติสี่ข้อแล้ว ท่านก็จึงนำหลักการนั้นมาอธิบายและบอกวิธีการปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์แปด อย่างที่กล่าวไปแล้ว  ถ้าปฏิบัติถูกต้องในเบื้องต้นก็สามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้ในทันที (ชั่วคราว) และผลสูงสุดก็คือไม่เกิดเป็นปัญหาอีกเลย (ถาวร) เช่น ถ้าหากบุคคลอันเป็นที่รักของเราตายไป เมื่อเรานึกถึงคำสอนทางพุทธศาสนา เรื่อง ทุกขสัจจะ ขึ้นมาได้ว่า ตามกฎธรรมชาติแล้วทุกสิ่งมีการเกิดแล้วก็ตาย หรือเกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรคงที่ สักวันเราเองก็จะเป็นเช่นเดียวกันนี้  เท่านี้เราก็คลายความโศกเศร้าลงไปได้ในระดับหนึ่ง หรือหมดความโศกเศร้าในเหตุการณ์นั้นไปเลยก็ได้  แต่พอมีเหตุการณ์ใหม่ที่เราต้องสูญเสียอีก ในตอนแรกเราก็ยังเกิดความเสียใจขึ้นอีก พอนึกขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ค่อยดับความเสียใจนั้นได้ อย่างนี้เป็นครั้งๆ ไป จึงเรียกว่า ดับทุกข์ชั่วคราว  จนกว่าจะยอมรับได้อย่างเป็นธรรมชาติก็คือรู้แจ่มแจ้งแล้ว ก็จะไม่เกิดความเสียใจขึ้นเลย อย่างนี้เรียกว่า ดับทุกข์ถาวร (นิพพาน)
          ซึ่งจะเห็นว่า วิธีการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบชั่วคราวหรือแบบถาวรก็ตาม เป็นการดับทุกข์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสิ่งรอบข้างเลย เพราะพูดภาษาชาวบ้านก็คือแค่ทำใจของตัวเองให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

          สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ด้วยหลักการของพระโพธิสัตว์นั้นต่างจากพระพุทธเจ้า คือ ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาที่ภายนอก หรือดับทุกข์แบบชั่วคราว  เช่น  ถ้าคนในพื้นที่ไหนแห้งแล้ง พระโพธิสัตว์ก็ช่วยบันดารให้ฝนตกในบริเวณนั้น แน่นอนคนที่เดือดร้อนก็จะต้องได้รับประโยชน์ แต่ลองคิดดูว่าจะมีคนในพื้นที่นั้นส่วนหนึ่งเกิดความลำบากจากการที่ฝนตกหรือเปล่า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยต้องตายจากการที่น้ำท่วมขังเป็นจำนวนมากเท่าไหร่  หรืออย่างมีคนเป็นโรคสักอย่างหนึ่ง มาอ้อนวอนให้พระโพธิสัตว์ช่วยบันดารให้หาย ถ้าช่วยให้เขาหายป่วยโดยง่ายๆ  สิ่งที่ตามมาคืออะไร เขาก็จะเอาแต่อ้อนวอน ไม่คิดจะหาวิธีอื่นในการบำบัดรักษา ซึ่งโรคบางโรคก็บำบัดรักษาได้วิธีทางการแพทย์  และเขาก็จะไม่เห็นทุกข์ภัยของความเสื่อมแห่งร่ายกาย นั่นคือเขาไม่เห็นตามสัจจะหรือตามกฎธรรมชาติ  ไม่เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด  นอกจากนี้เขาคิดจะอ้อนวอนขอในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย  แล้วปัญหาที่แก้ไปหรือดับไปนั้นมันก็ไม่ได้จบสิ้น  เขาก็ยังจะเป็นทุกข์เพราะความเป็นโรคอื่นๆ ที่จะตามมาอีก แถมยังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก เช่น คนที่ชอบอ้อนวอนก็มักเป็นคนที่ไม่มีความเพียร มีความประมาท เชื่อคนง่าย ความคิดไม่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย  เหล่านี้คือผลที่ตามหาเมื่อมีการแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนแปลงเหตุปัจจัยภายนอก เพราะธรรมชาติมีกฎของกรรม หรือกฎของการกระทำ เมื่อได้กระทำการอะไรลงไปก็ต้องมีผลตามมาในหลายระดับ หลายแง่มุม ชนิดที่เราคาดไม่ถึง  ยกตัวอย่างเช่น แค่เราเอายางลบไปลบรอยดินสอ รอยดินสอนั้นก็หายไป แต่ก็ยังเหลือขี้ยางลบเป็นเศษขยะที่ทำให้โต๊ะสกปรกต่อไปอีก

          อย่างไรก็ตาม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการปรับแก้ที่เหตุปัจจัยภายนอก หรือดับทุกข์แบบชั่วคราว  เพราะธรรมชาติก็ให้สัญชาตญาณมาอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงมีชีวิตรอดอยู่ด้วยในชีวิตประจำวัน เพราะการปล่อยให้ตัวเองตายโดยที่ยังมีความเป็นอัตตาหรือมีความยึดมั่น(อุปาทาน)ในรูปนามหรือชีวิตของตนเองอยู่ นั่นมันก็ยังนำไปสู่การเกิดภพชาติใหม่อีก ปัญหาต่างๆ ก็ยังจะตามมาอีก  แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ช่วยคนด้วยวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นกัน เพราะคนแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน ท่านก็ประเมินได้ ถ้าใครมีศักยภาพพอจะเข้าใจเรื่องอริยสัจสี่ ท่านจึงหาวิธีสอนให้  แต่ถ้าใครศักยภาพยังไม่พร้อม ท่านก็สอนให้กระทำกรรมอันเป็นกุศลไปเรื่อยๆ ก่อน  ถ้าภาวนา(ปฏิบัติตามรรคมีองค์แปดแบบตรงๆ)ยังไม่เป็น ก็ให้ถือศีลห้าไปก่อน หรือถือศีลห้ายังไม่ได้ ก็เอาแค่หมั่นทำทานไปก่อนก็ยังดี  หรือให้เคารพนับถือเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  หรือให้เชื่อในกฎของกรรม(การกระทำ)เอาไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นก็ยังดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น