3 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๕ บทสรุป ตอนที่ ๑๑ "สมมติ และ สัจจะ"

๓.๘  สมมติ และ สัจจะ


            สมมติ คือ ไม่ใช่เรื่องจริง หรือเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้น สมมติขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงได้
            สัจจะ คือ เป็นเรื่องจริง เป็นความจริง เป็นกฎของธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
            โลกที่เราใช้ชีวิตอยู่นี้เต็มไปด้วยทั้งสมมติและสัจจะควบคู่กันไป แต่ส่วนใหญ่เราหลงยึดติดกับสมมติ นั่นก็คือยึดติดกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือผิดหวัง
            ตัวอย่าง เช่น  ก้อนหิน มองในภาคสมมติ ภาษาไทยเราเรียกว่าก้อนหิน แต่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rock และในภาษาสมมติของชนแต่ละกลุ่มก็มีชื่อเรียกที่ต่างกันไปมากมาย   แต่ในภาคสัจจะหรือความจริงแล้ว ก้อนหินนั้นเป็นวัตถุที่มีสภาพเป็นก้อนแข็งๆ  เมื่อใครเห็นก็เห็นเป็นลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อมันไม่เหมือนหัน  แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อมันด้วยคำศัพท์ที่ต่างกันไปอย่างไร ความจริงมันก็ยังคงมีสภาพเป็นลักษณะก้อนแข็งๆ อย่างนั้น  ไม่ได้เปลี่ยนสภาพไปตามชื่อที่เรียก
            หรือตัวอย่างเช่น  พ่อ  ในภาษาสมมตินั้น ภาษาไทยก็เรียกกันไปมากมาย เช่น พ่อ บิดา บิดร พระราชบิดา ฯลฯ ส่วนในภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Father หรือ Dad เป็นต้น และในภาษาของประเทศอื่นก็เรียกด้วยคำศัพท์ที่แตกต่างกันไปมากมาย  โดยเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าหมายถึง บทบาทหน้าที่ ของบุคคลหนึ่ง กล่าวคือเป็นบุคคลเพศชายที่สเปิร์มของเขาไปทำให้เกิดลูกขึ้นมา ซึ่งในชาตินี้แต่ละคนก็มีพ่อจริงๆ ได้แค่คนเดียว จะเลิกสถานภาพนี้ไม่ได้นี่ คือสัจจะ  แต่บางสถานภาพ เช่น สามีซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีภรรยา จะว่าโดยกฎหมายหรือว่าโดยพฤติกรรมก็ได้ เมื่อเลิกรากันแล้วก็สิ้นสถานภาพนี้ไปในปัจจุบัน  บทบาทสมมตินั้นก็เป็นแค่อดีต แต่มันก็ถูกเก็บรสชาตินั้นไว้เป็นความทรงจำ  ถ้าไม่นึกถึงก็ไม่เกิดเรื่องราว แต่ถ้านึกถึงมันก็เป็นเรื่องราวขึ้นมา  นึกถึงแต่ไม่ความคิดนั้นไม่มีกำลังเราก็ไม่แสดงออกด้วยการกระทำ  แต่ถ้านึกถึงและความคิดนั้นมีกำลังมากมันก็ผลักดันให้เรากระทำอะไรต่อไปอีก
            หรือตัวอย่างเช่น วันอาทิตย์ ในภาษาสมมติ ภาษาไทยก็เรียกวันอาทิตย์ ภาษาอังกฤษก็เรียก Sunday  ซึ่งก็หมายถึง วันๆ หนึ่งในจำนวนเจ็ดวันของสัปดาห์ นี่เป็นสมมติที่กำหนดใช้ร่วมกันทั่วโลก  แต่ในภาคที่เป็นสัจจะแล้วไม่มีคำว่าวันอาทิตย์  โดยธรรมชาติแท้ๆ มีแค่ มืดและสว่างเพราะดวงอาทิตย์ คือถ้าดวงอาทิตย์ส่องสว่างไปในบริเวณนั้นก็เรียกว่ากลางวัน เมื่อไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ส่องไปบริเวณนั้นก็เรียกว่ากลางคืน  มันขึ้นกับการหมุนและการทำมุมของโลกกับดวงอาทิตย์  ชาวโลกก็สมมติว่าถ้าช่วงเวลากลางวันและกลางคืนครบหนึ่งรอบนับเป็นหนึ่งวัน  ซึ่งหน่วยนับเกี่ยวกับวันเวลาหน่วยอื่นๆ ก็เป็นสมมติเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ทศวรรษ ศตวรรษ ฯลฯ
            หรือตัวอย่าง เช่น ธงชาติ ภาษาอื่นก็เรียกต่างกันไป  สภาพจริงๆ หรือสัจจะของมันก็คือ ผืนผ้าที่ทาด้วยสีให้มีลวดลาย  แต่ในภาคสมมตินั้นก็ตกลงร่วมกันว่า ถ้าผืนผ้ามีลวดลายอย่างนี้ก็เรียกว่าธงชาติของประเทศนี้  ทีนี้ถ้าหากใครกระทำการอันไม่เหมาะสมกับผืนผ้าแบบนี้ เช่น เผาธงชาติ  ชนชาตินั้นก็จะเกิดความไม่พอใจ จนมีการกระทำที่ตอบโต้กันตามมา  นี่คือเรื่องเกิดจากการยึดถือสมมติร่วมกันใน ผืนผ้าที่ทาด้วยสี ผืนนี้ ทั้งชนชาติที่เป็นเจ้าของธงนี้และคนที่เผาธงนี้ (เจตนาเผาธงนี้เพราะคิดว่าธงนี้เป็นสิ่งมีค่าของชนชาตินั้น)
            หรืออย่างเหตุการณ์คนตาย เช่น แม่ตายโดยทั่วไปบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูก หรือญาติมิตร ก็จะรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ นี่คือผลของความยึดถือในสมมติ  สำหรับคนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงคนนี้ ไม่รู้จักกันเลย เขาก็ไม่รู้สึกโศกเศร้าเสียใจอะไรด้วย นั่นคือเขามีความยึดถือในสมมติเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้ในแง่มุมที่แตกต่างไป คือเขาอาจจะคิดเพียงว่าเป็นแค่คนๆ หนึ่งตายเท่านั้นเอง ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเขาเลย  นี่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้(คนตาย)ไม่ใช่สัจจะ ถ้าเป็นสัจจะหรือความจริง ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามถ้ารู้ว่าผู้หญิงคนนี้ตายเขาจะต้องรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเช่นเดียวกันทุกคน แต่นี่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ความจริงคือบางคนเสียใจ บางคนไม่เสียใจ 
            ทีนี้ถ้ายกตัวอย่าง รสเค็ม ใครก็ตามที่ได้ลิ้มรสเค็ม ทุกคนต้องรู้สึกอย่างเดียวกันว่ามันมีรสเค็ม จะพูดหรือไม่พูดออกมาก็ตาม  นี่คือรสเค็มเป็นสัจจะหรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติแท้ๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งขึ้นจากความรู้สึกของใคร  และมันก็อยู่ภายใต้กฎความจริง คือ ทุกขสัจจะ รสเค็มมันก็ไม่คงที่ ไม่คงทน พอลิ้นได้รับรสใหม่ รสเค็มก็จางหายไป
            หรือตัวอย่าง คำสอนทางศาสนาที่ว่า พระเจ้าสร้างโลก  ถ้าตีความในภาคสมมติว่า พระเจ้า (God)” เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียก บุคคลผู้หนึ่ง  ก็จะทำให้หลายคนไม่ยอมรับคำสอนอันนี้  แต่ถ้าตีความในภาคสมมติว่า พระเจ้า (God)” นั้นเจตนาที่จะให้เข้าใจว่าคือ ธรรมชาติ (Nature)”  ประโยคข้างต้นก็จะมีความหมายว่า ธรรมชาติสร้างโลก  อย่างนี้หลายคนก็คงจะยอมรับได้  ซึ่งจะเห็นว่าปัญหามันอยู่ที่การยึดถือในคำศัพท์สมมติแล้วก็ตีความไปตามที่ยึดถือนั้น  แต่อย่างไรก็ตาม การตีความคำสอนทางศาสนานั้นเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยคำอธิบายจากผู้รู้เป็นส่วนประกอบด้วย

            สำหรับหลักคำสอนทางพุทธศาสนานั้น สอนให้มองทุกสิ่งด้วยความเข้าใจในภาคสัจจะ เพื่อจะได้ไม่เกิดความยึดถือในสิ่งทั้งหลาย  วิธีการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในภาคสัจจะได้นั้นก็ให้เน้นมาศึกษาที่เรื่องรูปนาม (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)  เพราะโดยสัจจะหรือความจริงแล้วองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่งหนีไม่พ้นรูปและนาม (บางสิ่งมีแค่รูปเป็นองค์ประกอบ บางสิ่งมีทั้งรูปและนามเป็นองค์ประกอบ)  สิ่งที่จะเป็นแหล่งศึกษาเรื่องรูปนามได้ง่ายและชัดเจนกว่าสิ่งอื่นก็คือ ชีวิตเรา นี่เอง เมื่อเราเข้าใจรูปนามที่ประกอบกันเป็นชีวิตเราอย่างถ่องแท้ เราก็จะเข้าใจสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดด้วย 
            เมื่อเราเข้าใจเรื่องรูปนามในภาคสัจจะหรือสภาพที่มันเป็นอยู่จริงในธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ว่ามันมีสภาพไม่คงที่ ไม่คงทน แปรปรวน เปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยอันมากมาย ไม่ได้อยู่อำนาจของใครอย่างแท้จริง  ก็จะเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งก็มีสภาพเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายก็จะหมดไป  สภาพจิตใจของเราก็เป็นนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น