6 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๘ ปฏิับัติอะไร "วิธีฝึกตามลำดับขั้น (คำสอนจากพระโอษฐ์)"

ธรรมวิจัย เรื่อง ปฏิบัติอะไร

·  วิธีฝึกตนตามลำดับขั้น (คำสอนจากพระโอษฐ์)
·  มรรคองค์ ๘ (สำหรับผู้เข้าใจหลักการแม่นยำแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านส่วนนี้)

------------------------------------------------

          ผู้ที่ได้ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ก้าวต่อไปก็คือการปฏิบัติตนตามคำสอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาคำสอนให้ละเอียดยิ่งขึ้น ให้ทาน ถือศีล หรือเริ่มฝึกปฏิบัติในขั้นภาวนา (เน้นไปที่สติและสมาธิ)  แต่สำหรับผู้เริ่มต้นหรือผู้เริ่มมานานแต่ยังไม่ก้าวหน้า จนรู้สึกว่าความเพียรหย่อนไปเรื่อยๆ  มักจะเกิดจากปัญหาคือความไม่ชัดเจนในวิธีปฏิบัติและผลที่จะเกิดขึ้น
          ในแต่ละยุคก็มีการสอนวิธีปฏิบัติแบบต่างๆ ทั้งที่ตรงตามตำราพระไตรปิฎก และที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลากหลายวิธี  แต่การปฏิบัติในขั้นที่ละเอียดแล้วจะทำตามครูอาจารย์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยตนเองเป็นหลักสำคัญ เพราะว่าแต่ละคนมีพื้นฐานเฉพาะตัวแตกต่างกันไป  ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงจำเป็นต้อง เข้าใจตนเองและ เลือกใช้วิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเอง  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย   
          ส่วนใหญ่พอเข้าไปสำนักไหน เจอกันครั้งแรกอาจารย์ก็จะสอนวิธีปฏิบัติในรูปแบบที่ตนเองเคยทำมานั้นให้แก่ศิษย์โดยทันที แทบจะไม่ได้วิเคราะห์เลยว่าลูกศิษย์มีพื้นฐานอย่างไร  ขณะเดียวกันลูกศิษย์เองพอเข้าไปสำนักนั้นๆ ก็ลงมือปฏิบัติไปตามวิธีนั้นโดยทันทีเช่นกัน  หลายคนก็ไม่ได้ทราบเหตุผลว่าปฏิบัติแบบนั้นแล้วมันจะเกิดผลอะไร  นั่นคือทำตามไปด้วยความเชื่อ  ในช่วงแรกนั้นศรัทธายังมีกำลังมากอยู่ จึงช่วยให้อดทนทำความเพียรต่อไปได้  แต่พอปฏิบัติไปนานๆ แล้วไม่เห็นผลที่ชัดเจน ก็มักเกิดอาการท้อแท้ แล้วก็ถดถอยไปในที่สุด
          ปัญหาที่มักตอบตัวเองไม่ได้อย่างชัดเจนก็คือ สาเหตุที่เราปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลนั้น มันเกิดจากอะไรกันแน่  วิธีปฏิบัติแบบนั้นถูกต้องแล้วแต่เป็นเพราะเรายังพากเพียรไม่พอ  หรือว่าวิธีนั้นถูกต้องแล้วแต่เราปฏิบัติไม่ตรงตามหลักการ  หรือว่าวิธีนั้นมันไม่ถูกต้องตามหลักมรรคองค์ ๘   ซึ่งถ้าเราตอบปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติมากหรือน้อยเราก็จะยังคงเชื่อมั่นว่ากำลังปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง เพราะตามหลักเหตุผลแล้วเมื่อเริ่มปฏิบัติไปมันก็ต้องเริ่มเห็นผลไม่มากก็น้อย โดยทันที

ปฏิบัติอะไร
          สำหรับในที่นี้ ก็จะขอแนะนำ วิธีฝึกตนตามลำดับขั้น(คำสอนจากพระโอษฐ์)” ซึ่งผู้ใฝ่ศึกษาปฏิบัติธรรมควรจะใส่ใจศึกษาไว้เป็นพิเศษ เพราะเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เอง จึงเป็นวิธีที่ไว้ใจได้  และจัดว่าเป็นวิธีมาตรฐาน สำหรับคนปานกลางทั่วไป  แม้ว่าจะต้องปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป จนดูเหมือนจะต้องใช้เวลานาน แต่มันก็รับประกันผลลัพธ์ได้ว่าจะ ไม่หลงทาง  ดีกว่าเลือกที่จะไปทางลัดแต่กลายเป็นว่า หลงทาง  
          อย่างไรก็ดี การฝึกตนตามลำดับขั้นอาจจะทำให้เกิดผลก้าวหน้าอย่างรวดเร็วก็ได้ เพราะไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มต้นในขั้นที่หนึ่งเสมอไป  เราสามารถลองเริ่มต้นที่ขั้นสูงก่อนก็ได้  เมื่อลองปฏิบัติไประยะหนึ่งแล้วเห็นว่ามันเกินกำลังของเรา เราก็ค่อยๆ ลดระดับขั้นลงมา  ซึ่งก็ใช้เวลาทดลองปฏิบัติดูไม่นานเลย เราก็จะรู้ศักยภาพของตนเองอย่างชัดเจน
          ส่วนบทวิเคราะห์เหตุผลนั้น เขียนประกอบเพื่อจะอธิบายว่าที่พระพุทธเจ้าจัดลำดับขั้นการปฏิบัติไว้อย่างนั้นมันก็สอดคล้องกับหลักมรรค ๘  และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเจริญกรรมฐานแบบต่างๆ ซึ่งสอนกันแพร่หลายในสังคมชาวพุทธยุคนี้ก็จะเห็นว่ามันมีหลักการที่สอดคล้องกันด้วย   
          บทวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ได้มาจากการศึกษาภาคทฤษฎี แล้วทดลองปฏิบัติตามกรรมฐานต่างๆ ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง(ไม่ใช่ผู้ชำนาญ) เพื่อให้ได้รับประสบการณ์แล้วสามารถนำมาสรุปให้เป็นหลักเหตุผลได้ในเบื้องต้นเท่านั้น  เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตนเองก็ได้ใช้เวลาทดลองศึกษาปฏิบัติอยู่นานเพื่อจะเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับตน  จนวันหนึ่งได้อ่านวิธีฝึกตนตามลำดับขั้นในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ จากนั้นจึงได้ปรับวิธีปฏิบัติเฉพาะตนให้เข้ากับหลักการนี้ ซึ่งทำให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจมาก และมั่นใจว่ากำลังปฏิบัติอยู่ทางสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป
          แต่ก็ขอบอกไว้เบื้องต้นว่า บทวิเคราะห์ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนบุคคลในกาลนี้  ฉะนั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อในเหตุผลที่อธิบายทั้งหมดนี้ เพียงแค่ต้องการให้ นำไปคิดและพิสูจน์ดูเอง แล้วใช้สติปัญญาของท่านเลือกเฟ้นเอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์  เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า พูดถูก-ฟังถูก พูดถูก-ฟังผิด พูดผิด-ฟังถูก หรือพูดผิด-ฟังผิด 


 
วิธีฝึกตามลำดับขั้น (ตามคำสอนจากพระโอษฐ์)
         
ที่มาอ้างอิงจากข้อความในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (หน้า ๒๘๘-๒๙๖) หรือจากพระไตรปิฎก บาลี คณกโมคคัลลานสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๔ หน้า ๘๒ ข้อ ๙๔ และ บาลี ทันตภูมิสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๔ หน้า ๖๖ ข้อ ๓๙๕ 
------------------------------------------
สรุปความโดยย่อเป็นขั้นๆ (ด้วยสำนวนโวหารส่วนตัว) ดังนี้

ขั้นอนุบาล:  เมื่อตถาคตตรัสรู้แล้วได้แสดงสัจธรรมอันถูกต้อง ผู้ได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธา  
          เขาย่อมพิจารณาเห็นว่า วิถีชีวิตอย่างฆราวาสนั้นคับแคบ เป็นทางมาแห่งปฏิกูล การออกบวชเป็นทางโล่งโปร่งอันยิ่ง การที่คนอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวนั้นไม่อาจทำได้โดยง่าย  ถ้ากระไรเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด  เมื่อเขาละกองสมบัติน้อยใหญ่ และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว 
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นอนุบาลนี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) และสัมมาสังกัปปะ (ความคิดอันชอบ)
          พระพุทธเจ้าพูดไว้ชัดเจนว่า วิถีฆราวาสไม่เอื้อเฟื้อต่อการฝึกตนเท่ากับวิถีนักบวช แต่ผู้ที่ออกบวชไม่ได้ก็ต้องยอมรับตามตรงว่าเป็นเพราะตนเองกำลังไม่พอ (เช่น ศรัทธาไม่พอ เห็นภัยไม่พอ ติดข้องแล้วดิ้นไม่หลุด เป็นต้น) ดังนั้น ฆราวาสส่วนใหญ่จึงต้องฟังธรรมให้มาก เพราะตัวเองคิดเองไม่ถูกต้อง จนกว่าจะเข้าใจคำสอนที่สำคัญ ได้แก่
          - ตัวเราก็คือขันธ์ห้า หรือรูปนาม (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ปัจจุบันมีสภาพอัตตาคือมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราโดยแท้
          - แต่ความจริงคือ รูปนาม เป็นอนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(ตั้งอยู่อย่างเดิมไม่ได้) และอนัตตา(ไม่ใช่ตัวเราโดยแท้ เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ)
          - กฎปฏิจจสมุปบาท (ภพชาติ และจุติจิต)
          - กฎของกรรม และเหตุปัจจัยอันแปรปรวน (อจินไตย)
          - อริยสัจ ๔ 
          - มรรค ๘
          กระแสชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในขั้นนี้ จึงเน้นการศึกษาธรรมะด้วยวิธีการอ่านและการฟัง ยังไม่มีกำลังพอจะก้าวไปสู่การศึกษาในขั้นฝึกตน  อย่างมากก็ทำได้แค่การให้ทาน  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะให้ทานเพราะหวังผลชาติหน้า  หรือบางส่วนก็ชอบให้ทานเพราะเป็นคนมีอุปนิสัยชอบเอื้อเฟื้อผู้อื่น  แต่มีน้อยคนที่ให้ทานเพราะตั้งเจตนาชัดเจนว่าต้องการจะแก้อุปนิสัยยึดติด หรือตระหนี่ถี่เหนียว หึงหวง
          บางคนบริจาคทรัพย์ได้เป็นล้านๆ เพื่อช่วยสร้างวัตถุใหญ่ๆ เพราะหวังลึกๆ ว่าจะได้รับผลกรรมนี้ในกาลถัดไป ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า  แต่ถ้าจะให้นั่งฟังคำสอนธรรมะ สัก ๓๐ นาที ก็วอกแวก กระวนกระวาย ตั้งใจฟังไม่ได้  หรือมีน้อยคนที่จะให้เวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือธรรมะ นั่นเพราะยังไม่เห็นคุณค่าของหลักธรรมคำสอน  
          หรือบางทีลองอ่านแล้ว แต่ก็เข้าใจยาก ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนอ่านหนังสืออื่น ทำให้เลิกสนใจที่จะอ่านหนังสือธรรมะ  นี่แหละเป็นเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้ากล่าวว่า พระสงฆ์เป็นนาบุญอันยิ่งใหญ่กว่านาบุญอันดีทั้งหลาย  ก็เพราะการเข้าไปสนทนาธรรมะกับพระสงฆ์นั้นทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น  แต่กระแสนิยมกลับไม่ได้ไปหาพระสงฆ์เพื่อฟังธรรมะ ส่วนมากไปเพื่อการอื่นเสียมากกว่า (พระสงฆ์ก็มีหลายระดับเหมือนกัน)
          สำหรับเรื่องที่จะให้ถือศีล ๕ เว้นทุจริต นั้นยิ่งทำได้ยาก  ส่วนการฝึกตนในด้านเจริญกรรมฐานนั้นคนส่วนใหญ่ก็มักคิดว่าตนเองยังไม่พร้อม หรือไม่มีศักยภาพพอจะบรรลุมรรคผลนิพพานอะไรในชาตินี้หรอก  ก็เลยดูเหมือนจะขาดแรงจูงใจให้ไปทางนั้น

เมื่อเขาออกบวชแล้ว ตถาคตจึงแนะนำผู้บวชนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า

ขั้นที่ ๑  ท่านจงเป็นผู้มีศีล 
          ตั้งใจศึกษาสิกขาบทน้อยใหญ่ให้เข้าใจ สำรวมด้วยดีในศีลและในมรรยาท เห็นโทษแม้น้อยนิดในการล่วงละเมิด
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๑ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาวาจา(การพูดจาอันชอบ)  สัมมากัมมันตะ(การกระทำอันชอบ) และสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพด้วยวิธีอันชอบ)
          สังเกตคำว่า มีศีล (ไม่ได้บอกว่าถือศีล) คือมนุษย์อยู่สังคมไหนก็ต้องมีกฎกติกามารยาท ไม่งั้นสังคมก็ไม่มีกรอบ คนในสังคมก็วุ่นวายกัน  ฉะนั้นก็ให้มีศีลอันเหมาะสมตามสถานภาพของตน ฆราวาสก็ศีล ๕ หรือศีล ๘  เณรก็ศีล ๑๐ ส่วนพระก็ศีลตามวินัยสงฆ์  แต่ก็ต้องทำความเข้าใจเพื่อจะได้ คิดให้มันพอดี ว่าเรามีศีลเพื่อเป็น กรอบการกระทำทางกายและวาจา ซึ่งมันไปเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นสัตว์อื่นภายนอก  ไม่ใช่เพื่อเคร่งไว้อวดใครว่าข้อปฏิบัติของฉันเหนือคนอื่น หรือเคร่งครัดมัดตัวเองจนหายใจไม่ออก จนสุดท้ายก็เหมือนลูกโป่งแตกคือเลิกสนใจไปเลย  เมื่อเราถือศีล ผลภายนอกคือผู้อื่นก็จะไม่นำความเดือดร้อนกระทบเรา และผลภายในคือเราก็ไม่วิตกกังวล มีความอาจหาญ  
          เรื่องถือศีลมันเป็นแค่ ขั้นการพยายาม ไม่ใช่ว่าจะทำได้บริบูรณ์ทุกอย่าง  มันเป็นธรรมดาของปุถุชน(ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวช)ที่ยังมีการเผลอทำผิด หรือทำผิดเพราะจำใจ หรือไม่มีกำลังพอจะอดทนอดกลั้นได้  แต่เมื่อผิดแล้วก็ระลึกสอนตนเองไปเรื่อยๆ  อย่างนักบวชที่ทำผิดวินัยสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็กำหนดบทลงโทษไว้แล้วในแต่ละกรณี ก็ชำระกันไปตามนั้น เช่น ถ้าละเมิดกฎข้อเล็กน้อย ก็ให้แสดงอาบัตินั้นแล้วก็ตั้งใจสำรวมต่อไป ไม่ใช่ว่าแค่ผิดเล็กผิดน้อยก็คิดไปว่าเราถือศีลไม่ได้ สึกไปเป็นฆราวาสดีกว่า วิถีฆราวาสมันจะดีกว่าได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็บอกไว้แล้วว่า ฆราวาสเป็นวิถีชีวิตที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งปฏิกูล และพระองค์ก็บอกไว้ชัดว่า ผู้ที่ไม่สมควรจะอยู่เป็นภิกษุก็คือผู้ที่ผิดวินัยในหมวดปาราชิก ๔ ข้อ เท่านั้นเอง นี่คือต้องคิดให้มันพอดีตรงตามหลักการเหตุผล
          ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า พระพุทธองค์ ไม่ได้จัดเรื่องการให้ทานวัตถุสิ่งของอยู่ในขั้นที่ ๑  ไม่ใช่ว่าการให้ทานไม่มีประโยชน์  แต่เพราะว่านี่เป็นวิธีการฝึกสำหรับนักบวช ซึ่งสละสมบัติและญาติไปแล้ว จึงออกจากเรือน  นั่นคือ ได้ให้ทานไปมากแล้ว  ถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์แบบภายนอกก็ให้ทานไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือแค่ปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ  หากเปรียบเทียบกับฆราวาสก็จะเห็นว่า แม้ฆราวาสจะให้ทานทรัพย์สินมากมาย แต่เมื่อวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว สัดส่วนที่แบ่งมาให้ทานนั้นเป็นแค่เศษเสี้ยวของทั้งหมดที่มีอยู่  ส่วนจะให้สละญาติมิตรนั้นยิ่งทำไม่ได้เลย ฉะนั้น  การให้ทานจึงมีอานิสงส์น้อยกว่าการถือศีล 
          แต่อย่างไรก็ดี ฆราวาสก็จำเป็นต้องทำในขั้นการให้ทานไปเรื่อยๆ เพราะทำได้ง่าย และตนเองก็มีกำลังทำได้แค่ระดับนี้  ส่วนนักบวชที่ออกจากเรือนมาแล้วแต่ก็ยังแสวงหาลาภ หาวัตถุสิ่งของ เกียรติยศ ชื่อเสียง เหล่านี้ก็คือ ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ในมรรค ๘  หรือแม้แต่เพลินไปกับการสร้างทานบารมี (เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่) ถึงจะจัดว่าเป็นกุศลกรรม แต่นั่นก็ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องการเจริญมรรค ๘ เพื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าหรือรูปนามของตน อันเป็นทางสู่นิโรธตาม  (วัตถุสิ่งของ หรือตัวบุคคลอื่น ไม่ใช่ขันธ์ห้าหรือรูปนามที่เรายึดมั่นว่าเป็นตัวเรา)  
         
เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว ตถาคตจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ขั้นที่ ๒  ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ 
          เมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายได้สัมผัส  และใจเกิดความนึกคิด  จงอย่าได้ถือว่าทั้งหมดนั้นน่ายินดีหรือน่ารังเกียจ  จงอย่าได้ถือว่าบางส่วนนั้นน่ายินดีหรือน่ารังเกียจ
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๒ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาสังกัปปะ(มีความคิดอันชอบ) ขั้นนี้เป็นงานที่ละเอียดขึ้นกว่าขั้นที่ ๑  โดยให้โฟกัสเข้ามาเน้นควบคุมความคิดขณะที่มีการรับสัมผัสทางอวัยวะของร่างกาย(Sense Organ)  ไม่ให้เกิดความคิดไปในทางยินดียินร้าย  รวมไปถึงการควบคุมความคิดอันเกิดจากความทรงจำอันเก่าเป็นต้นเหตุ
          ในขั้นนี้ถ้าสามารถแยกวิธีฝึกตนออกได้ ๒ ส่วน คือ (๑.) พยายามเลี่ยง หรือ หลบ ไม่ให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปกระทบกับสิ่งที่ทำให้ยินดียินร้าย เช่น  ไม่เข้าไปอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่ส่งเสริมมัน ได้แก่ ดูหนังดูละคร ฟังเพลง ประดับตกแต่งร่างกาย  กินอาหารฟุ่มเฟือย ฯลฯ  และ (๒.) จัดการกับความคิดยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้มันกลับสู่สภาพปกติ ด้วยการอบรมสอนตนเอง
          บางกรรมฐานก็สอนให้นึกในใจตามไปด้วยว่า เห็นหนอ ได้ยินหนอ ฯลฯ ก็ตรงกับการฝึกตนในขั้นนี้  คำว่า หนอ มีความหมายว่า มันก็เช่นนั้นเอง มันก็อย่างนั้นเอง มันก็แค่นั้นเอง มันก็เท่านั้นเอง เป็นธรรมดา ไม่น่ายินดี ไม่น่ายินร้าย  ถ้าหากผู้ปฏิบัติตีความคำว่า หนอ ในทำนองนี้ไปด้วยทุกครั้งที่เกิดความยินดียินร้าย  มันก็เป็นการเจริญสัมมาสังกัปปะไปพร้อมกันด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติในขั้นนี้    แต่ถ้ากำหนดเอาคำว่า หนอ ไปแนบกับอะไรก็แล้ว โดยไม่ได้ตีความหมาย มันก็จะเป็นการเน้นไปที่การเจริญสติและสมาธิ

เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว ตถาคตจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ขั้นที่ ๓  ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร  
          โดยพิจารณาก่อนลงมือบริโภคว่า ไม่ได้บริโภคเพื่อมัวเมาหรือเพื่อประดับตกแต่ง แต่บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้พอตั้งอยู่ได้ พอดำเนินไป  ป้องกันความลำบาก อนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ กำจัดความหิว ไม่ทำให้อิ่มจนอึดอัดหรือทำให้ลำบากกาย  ชีวิตดำเนินไปอย่างผาสุกตามสมควร 
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๓ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาสังกัปปะ(ความคิดอันชอบ) เพราะต้องหมั่นคิดใคร่ครวญก่อนทำการบริโภคอาหาร  ขั้นนี้ถ้ามองในแง่ของการเจริญปัญญาก็คือการคิดพิจารณาให้ตรงตามเหตุผล คือหน้าที่ของอาหารก็คือบำบัดความหิว และให้กำลังแก่ร่างกาย  ถ้าเป็นนักบวชก็จัดว่าเป็นการฝึกตนในด้านความเป็นอยู่ คือฝึกไม่ให้กังวลเรื่องความประณีตเลิศรสของอาหารจนเกินไป กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน  บริโภคตามมีตามได้ เป็นผู้เลี้ยงง่าย
          ขั้นนี้ก็แค่ตั้งใจนึกคิดก่อนที่จะบริโภคอาหาร โดยนึกไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเป็นทางสายกลาง  ถ้านึกเกินไปมันก็กลายเป็นสุดโต่งได้เหมือนกัน เช่น นึกไปว่าอาหารนี้สกปรก น่าเกลียด น่าขยะแขยง ไม่น่ากิน ฯลฯ มันก็เลยทำให้เบื่ออาหาร กินไม่ลง ร่างกายก็อาจจะได้รับความไม่ผาสุก
          บางกรณีก็จะเห็นบางสำนัก เว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่ง ถ้ามีศักยภาพทำได้โดยจัดระบบเฉพาะมันก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าถึงขนาดไปต่างถิ่นแล้วก็ไปเจ้ากี้เจ้าการสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน มันก็อาจจะมีผลกระทบตามมาคือ ชาวบ้านติเตียนได้  ซึ่งพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้บัญญัติในพระวินัยว่าต้องบริโภคเฉพาะมังสวิรัติ  โดยเฉพาะบรรดาลูกศิษย์(ที่ทำตามแบบลูบคลำ)ก็เลยถูกฝึกให้เรื่องมากจนกลายเป็นผู้เลี้ยงยาก และอยู่เพื่อกิน  เคร่งเรื่องฝึกกิน แต่หย่อนเรื่องการฝึกกรรมฐาน  ถ้าจะให้พอดีก็คือ เมื่อไม่มีอาหารมังสวิรัติเลย ก็บริโภคข้าวเปล่า ผักผลไม้ อะไรอื่นตามที่มีหรือที่ได้มา  (ถ้าสังเกตจะเห็นว่า อาหารมังสวิรัติมักจะมีการปรุงแต่งภาพลักษณ์เกินธรรมชาติ และยังพยายามจะทำให้มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์อยู่อีก) 
          พิจารณาแล้วจะเห็นว่าการปฏิบัติเคร่งนั้นมันย้อนกลับไปที่ขั้นการถือศีล หรือถ้าจะระบุให้ละเอียดลงไปอีกจะเรียกว่าอยู่ในขั้นอนุบาลก็ยังได้ถ้าทำไปแบบลูบคลำ คิดไม่พอดีตามความเป็นจริง  เนื้อสัตว์นั้นจัดเป็นวัตถุ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ไม่มีนามหรือจิต  (ปาณาติบาต คือการฆ่าเองหรือสั่งให้เขาฆ่า)  ซึ่งสมัยพระเทวทัตไปขอให้ภิกษุเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าไม่ได้เห็นเขาฆ่า ไม่ได้ยินเขาฆ่า และไม่รู้สึกรังเกียจ ก็อนุญาตให้บริโภคได้ นี่คือทางสายกลาง

เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว ตถาคตจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ขั้นที่ ๔  ท่านจงเพียรในกิจอันเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่ซึมเซา)       
          ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดวันจนกระทั่งเข้านอน  เมื่อตื่นนอนจงมีสติสัมปชัญญะ(ระลึกรู้ที่ร่างกาย)ในการลุกขึ้น  แล้วก็มีสติสัมปชัญญะในการเดิน และการนั่ง ต่อเนื่องไป

บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๔ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาสติ(ความคิดอันชอบ) และตั้งแต่ขั้นนี้เป็นต้นไปก็ต้องมี สัมมาวายามะ(ความเพียรอันชอบ) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
          วิธีฝึกตนในขั้นนี้ต้องการฝึกให้เพ่งดูที่รูปขันธ์หรือร่างกายทั้งก้อน(โดยภาพรวม) ให้เห็นว่ามันเดิน มันนั่ง สลับไปมาอย่างต่อเนื่องทั้งวัน  กำลังสติและสมาธิจะถูกพัฒนายิ่งขึ้น  นิวรณ์ที่ชื่อว่า ถีนะมิทธะ(ง่วงเหงา) และอุทธัจจะกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่าน) จะถูกชำระให้เบาบางลงไป จะมีความรู้สึกว่า ตื่นตัว มากขึ้น
          ผลจากการฝึกตนในขั้นนี้ จะเริ่มเห็นได้บ้างว่า ร่างกายตัวเองเป็นเหมือนหุ่น เหมือนวัตถุ เหมือนซากศพ ซึ่งกำลัง ถูกนามขันธ์เป็นผู้เฝ้าติดตามดูมันอยู่  นั้นคือเบื้องต้นของการได้สัมผัสรสชาติความเป็นอนัตตาของรูป (รูปัง อนัตตา) ในเหลี่ยมใดเหลี่ยมหนึ่งเป็นครั้งๆ คราวๆ  จากนั้นก็จะค่อยๆ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (นิพพิทา) เห็นว่ารูปร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่ของใช้ชั่วคราวของเรา (ขั้นนี้ยังยึดนามขันธ์ทั้งหมดว่าเป็นเราอยู่)  ผลในขั้นนี้คำว่า เห็น หรือ เข้าใจ หมายถึงอาการในระดับความรู้สึก ไม่ใช่แค่ระดับคิดคำนวณตามความรู้จากตำรา 
          สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การปฏิบัติธรรมนั้นเมื่อได้ผลจริง  ความคิดก็ต้องเปลี่ยนไปจริง เมื่อความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะการกระทำ(การขยับเคลื่อนไหวของร่างกาย)ย่อมเกิดจากความคิดผลักดันให้ร่างกายไปกระทำ

เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว ตถาคตจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ขั้นที่ ๕  ท่านจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ 
          ระลึกรู้ที่ร่างกายในอิริยาบถ การก้าวไปข้างหน้า  การก้าวถอยหลัง  การเหลียวหรือแลไปดู  การคู้และเหยียด  การแต่งตัว  การเคี้ยวอาหาร  การดื่มน้ำ  การลิ้มรส  การถ่ายอุจจาระ  การถ่ายปัสสาวะ  การเคลื่อนไป  การหยุด  การนั่ง  การนอน  การหลับ  การตื่น  การพูด  การหยุดพูด
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๕ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาสติ(ความคิดอันชอบ) และสัมมาวายามะ(ความเพียรอันชอบ)  แต่ขั้นนี้เป็นการเพิ่มความละเอียดในเรื่องสัมมาสติให้มากขึ้น
          จุดที่จะสังเกตเห็นได้อีกอย่างในขั้นนี้ คือ อิริยาบถนอนหลับตา จะเห็นว่ามีแค่ร่างกายเท่านั้นที่หลับตา แต่จิต(นาม)ยังไม่ได้หลับ มันยังทำงานอยู่ อาจจะคิดไปในเรื่องราวต่างๆ และยังรับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกับร่างกาย  จนกว่าจะเกิดสภาพที่หลับสนิท นั่นคือจิตมันหลับแล้ว ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย (เหมือนคนตาย)  แต่พอเกิดอาการฝัน นั่นคือจิตมันตื่นแล้ว ทำงานแล้ว มันก็เหมือนกับตอนที่เราหลับตาแล้วก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ต้องอาศัยกำลังสติและสมาธิจึงจะสังเกตเห็นอาการนี้ได้อย่างชัดเจน (แต่คนทั่วไปนั้นมีกำลังสติและสมาธิไม่มากพอก็เลยกลายเป็นว่ารู้สึกเคลิ้มๆ หลงไปในอารมณ์นั้นอย่างเต็มที่)  ต่อมาเมื่อรู้สึกตัวว่าตื่นนอน จะเห็นได้ว่ามีสภาพอาการเหมือนตอนก่อนที่จะนอนหลับสนิท(แค่นอนหลับตาไว้แต่ยังไม่หลับ)  จิตต้องผลักดันก่อน ร่างกายจึงจะเปิดเปลือกตาขึ้นหรือขยับร่างกาย (แต่คนส่วนใหญ่มักจะงัวเงียตอนที่ตื่นนอนใหม่ๆ)  จากนั้นถ้ากำหนดดูก็จะเห็นการขับเคลื่อนของร่างกายอิริยาบถต่างๆ ต่อไป  ก็จะยิ่งเกิดความรู้ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรูปขันธ์กับนามขันธ์มากขึ้น 
          ผลการฝึกตนในขั้นนี้ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ารูปขันธ์หรือร่างกายนี้ เป็นแค่หุ่น หรือซากศพ หรือวัตถุ ที่ถูกจิตผลักดันให้เคลื่อนไหวไปในอิริยาบถย่อยต่างๆ  (ถ้าสติมีความว่องไวหรือละเอียดมาก ก็จะเห็นได้อย่างต่อเนื่อง)   รสชาติของคำว่า รูปัง อนัตตา จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น  เกิดนิพพิทายิ่งขึ้นไปอีก  จะทำให้ถอนความยึดมั่น(อุปาทาน)ในรูปขันธ์ได้อีกระดับหนึ่ง  หรือพูดอีกอย่างก็คือขั้นนี้เป็นขั้นของการชำระความยึดมั่นในรูปขันธ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ปัญหาความกังวล หึงหวง ยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ ถูกชำระไปมาก จนเริ่มเห็นว่าต้นตอของปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากจิตหรือนามขันธ์  ดังนั้น งานสุดท้ายที่จะต้องทำก็คือการชำระจิต  และมีสติว่องไวพอจะ เริ่มรู้ทัน การก่อตัวขึ้นของความคิด การแปรปรวน และการดับไปของมันเอง ตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วย ทุกขสัจจะ (ไม่คงที่ ไม่เที่ยง) เพราะเหตุปัจจัยอันมากมาย  เข้าใจเหตุผลที่มาของความคิดทั้งหลาย และ เข้าใจว่ากฎเรื่องทุกขสัจจะนี้ก็ครอบทุกสรรพสิ่ง 
          ในขั้นนี้ ปัญญาจะเริ่มละเอียดขึ้นไปพร้อมกับความว่องไวของสติ  (ทั้งปัญญาจากความรู้ที่เคยศึกษามา หรือปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นมาใหม่เฉพาะหน้า)  การเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน  การตัดสินใจถูกต้องและฉับไวมาก (ไวกว่าการคิดคำนวณไตร่ตรองธรรมดา) คล้ายๆ กับเป็นอัตโนมัติ  มีหลายคำศัพท์ที่ใช้เรียกกัน เช่น ลางสังหรณ์ หรือ ปัญญาญาณ  ซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะมีความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจและการกระทำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  
          และถ้ามองในเหลี่ยมของการหมดกิเลส จะสังเกตเห็นได้ว่ากิเลสอย่างหยาบ (โลภ โกรธ หลง) เริ่มเบาบางลง เหมือนมันหดหายไปโดยอัตโนมัติ (ไม่ใช่การหายไปเพราะว่าเราคอยดับมันด้วยเหตุผลทางความคิดแบบเป็นครั้งเป็นคราว)

เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว ตถาคตจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ขั้นที่ ๖  ท่านจงอยู่ในสถานที่อันสงัด คอยชำระจิต
          เช่น ป่า ภูเขา ท้องถ้ำ ที่โล่งแจ้ง ฯลฯ (เมื่อบริโภคอาหารเสร็จแล้ว)  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า คอยชำระจิตจากนิวรณ์ ๕ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญญามีกำลังเสื่อมถอย) ได้แก่ 
                    คอยชำระจิตจากกามฉันทะ (ความยินดีในกามคุณ)
                    คอยชำระจิตจากพยาบาท (ปองร้ายผู้อื่น) 
                    คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ (ความง่วงเหงา)  
                    คอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน) 
                    คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัยว่านี่อะไร นี่อย่างไร)

เมื่อชำระจิตจากนิวรณ์ทั้งห้าได้แล้ว  เป็นผู้มีปรกติรู้ตัวรอบคอบ มีสติระลึกไปใน กาย เวทนา จิต ธรรม กำจัดความยินดีและยินร้ายต่อโลกออกเสียได้ 
          -  จิตสงัดจากการตรึกในกามและอกุศลทั้งหลาย
   จึงบรรลุฌานที่ ๑ (มีวิตกวิจาร ปีติสุข อันเกิดจากวิเวก) 
-  จากนั้น ละวิตกวิจารลงได้
   จึงบรรลุฌานที่ ๒ (มีแต่ปีติสุขอันเกิดจากสมาธิ) 
-  จากนั้น ปีติจางคลาย ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย    นามกาย    
   จึงบรรลุฌานที่ ๓ (มีสติอยู่เป็นสุข) 
-  จากนั้น ละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความสิ้นไปแห่งความดีใจและเสียใจ
   จึงบรรลุฌานที่ ๔ (มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ แล้วก็ดูอยู่อย่างนั้น)

          สำหรับภิกษุผู้ยังไม่บรรลุอรหันต์ ถ้ายังปรารถนานิพพานอยู่ ก็จงทำตามหลักการนี้ต่อไป เพราะไม่มีกิจอื่นสำคัญไปกว่านี้  ส่วนภิกษุผู้บรรลุอรหันต์แล้วก็ทำตามหลักการนี้เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
บทวิเคราะห์: 
          ขั้นที่ ๖ นี้ ถ้าเชื่อมโยงกับมรรค ๘ ก็เด่นในข้อ สัมมาสติ(ความระลึกอันชอบ)  และสัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นอันชอบ) และสัมมาวายามะ(ความเพียรอันชอบ)  จะพูดสรุปก็คือ เป็นขั้นของการ ชำระจิต หรือ ชำระอุปาทานในนามขันธ์
          อันที่จริงสัมมาสมาธินั้น ค่อยๆ ถูกพัฒนาประสิทธิภาพขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างชัดเจนพร้อมกับการเจริญสัมมาสติ หรือเมื่อมองในแง่ของการกำจัดนิวรณ์เราจะเห็นว่ากลุ่มนิวรณ์ ๕ นั้น ค่อยๆ ถูกชำระไปทีละน้อยเริ่มตั้งแต่ขั้นที่ ๑ เป็นต้นมาเลย
          สำหรับกระแสนิยมในหมู่นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่มักจะลัดมาฝึกตนกันที่ขั้นนี้ ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น  เป็นอุปนิสัยเก่าที่เคยชำนาญเรื่องสมาธิมาก่อน  หรือคิดว่าเป็นทางลัดสะดวกดี ทำให้เกิดสมาธิจนได้ฌานแล้วเดี๋ยวก็บรรลุธรรมได้เอง  หรือไม่รู้หลักการอะไรหรอกแค่ทำตามกระแสนิยมของชาวพุทธที่สอนกันว่าให้ถือศีล ทำสมาธิ แล้วสักวันจะเกิดปัญญา  (ไม่ว่ากันถึงพวกทำสมาธิเพื่อการอื่นนอกแนวซึ่งไม่ได้หวังมรรคผลนิพพาน)  แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่ามันไม่ได้ง่ายเลย  กล่าวคือ เมื่อฝึกจนเกิดสมาธิและได้ฌานแล้ว แต่ก็ติดปัญหาคือ
                    - ไม่รู้จักสภาพอารมณ์ของจิตในแต่ละช่วงในสมาธิ ตอนไหนวิตกวิจาร ตอนไหนปีติสุข ตอนไหนอุเบกขา  และอารมณ์เหล่านั้นมันมีการเปลี่ยนแปลง แปรปรวน ไม่เที่ยง เมื่อไหร่ อย่างไร  เพราะว่าไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้ จึงไม่สามารถติดตามสังเกตศึกษาได้  ทำให้หลงไปติดกับอาการสุขสงบ  ก็เลยไม่เกิดนิพพิทา(เบื่อหน่าย)ในอารมณ์เหล่านี้(นามขันธ์)สักที  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยครูอาจารย์ชี้แนะในรายละเอียด
                    -  คิดว่าจะต้องดำรงให้จิตอยู่ในสภาพที่สมาธิไปเรื่อยๆ ให้มั่นคง แล้วสักวันก็จะบรรลุธรรมได้เอง ลืมตัวอย่างเรื่องอุทกดาบสและอาฬารดาบสซึ่งเก่งสมาธิขนาดนั้นแต่ก็ไม่ได้บรรลุแม้แต่ขั้นโสดาบัน เพราะไม่รู้จักว่าจะนำมาใช้งานศึกษาเรื่องรูปนามอย่างไร 
                    - มีภาพนิมิตและอิทธิปาฏิหาริย์มากมายเกิดขึ้นในขณะเจริญสมาธิ จนหลงเพลินไปกับมัน ไม่ได้อยู่ในมรรค ๘ (ลืมว่าเจตนาเจริญสมาธิก็เพื่อถอนอุปาทานในรูปนามหรือขันธ์ห้า) หรือมากไปกว่านั้นก็คิดว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยคน มาสร้างชื่อเสียง หรือแม้แต่นำมาใช้หาเงินเพื่อสร้างวัตถุทางศาสนา และชักนำศรัทธาในหมู่ชน ซึ่งความจริงเขาศรัทธาในอิทธิฤทธิ์ไม่ใช่ศรัทธาในหลักธรรมคำสอน มันจึงเป็นศรัทธาที่ฉาบฉวย ไม่มีคุณภาพ (ก็ย้อนไปเหมือนตอนที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้า พวกลัทธิต่างๆ ก็ทำกันแบบนี้)  
                    -  และอย่าลืมว่า กำลังสมาธิก็เป็นอนิจจัง มันก็ย่อมแปรปรวน และเสื่อมได้ ตามกฎเรื่องเหตุปัจจัย เช่น ไม่มีเวลาทำอย่างสม่ำเสมอมันก็เสื่อมไป

          และโดยมาก กำลังสติไม่พอ เมื่อพยายามฝึกตนตามขั้นที่ ๖ ก็จะถูกนิวรณ์ ๕ ครอบเอา  หรือสมาธิก้าวหน้าทางอื่น เช่น หลงไปกับนิมิตบ้าง อิทธิปาฏิหาริย์บ้าง หรือติดสุขในสมาธิบ้าง  เหล่านี้เป็นการออกนอกเส้นทางมรรค ๘  ไปแล้ว จึงจัดว่า ไม่ใช่การเจริญสัมมาสมาธิ   เมื่อตนเองมีกำลังสติไม่มากพอทำให้ฝึกตนในขั้นนี้ไม่ได้ผล  ก็ต้องปรับโดยเน้นน้ำหนักไปที่การฝึกตนในขั้นที่ ๕ เพิ่มเติมมากขึ้น  ถ้าขั้นที่ ๕ ก็ยังทำไม่ได้ดีอีก ก็ลดขั้นลงไปเรื่อยๆ  นั่นคือมันชี้ให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของเราเอง  อย่ามัวดื้อรั้นหลอกตัวเองอยู่

--------------------------------------------------

บทวิเคราะห์โดยภาพรวมเกี่ยวกับวิธีฝึกตนตามลำดับขั้น

          ๑.  ปกติควรฝึกตนในขั้นต้นๆ ให้ดีก่อนแล้วค่อยเลื่อนระดับไปขั้นที่สูงกว่า (ดีในที่นี้หมายถึงดีพอประมาณ ไม่ใช่ว่าจะต้องบริบูรณ์) แม้จะดูเหมือนต้องใช้กาลเวลายาวนาน แต่ก็เป็นการสร้างฐานอย่างมั่นคง ดีกว่าไปคว้าน้ำเหลว คือรีบข้ามไปทำขั้นสุดท้ายโดยที่ตัวเองไม่มีศักยภาพเพียงพอ (เหมือนที่นิยมตามกระแสในปัจจุบัน) 

          ๒.  สำหรับผู้ที่ต้องการจะลัดข้ามขั้นก็ทำได้ เพียงแต่ต้อง ประเมินศักยภาพของตนให้ถูกต้อง  หากทดลองฝึกตนในขั้นสูงแล้วตนทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ค่อยลดระดับขั้นลงไป เพื่อให้เหมาะกับกำลังของตน  แต่ถ้ายังฝืนทำต่อไปนานเข้าก็จะเกิดอาการท้อถอย เพราะไม่เห็นผลอะไรเนื่องจากตนเองฝึกตนไม่มีประสิทธิภาพ  อุปมาก็เหมือนการสอบเทียบชั้น บางคนก็เลือกจะจบการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบ จึงพยายามสอบแล้วสอบอีกจนกว่าจะผ่าน  ในขณะที่บางคนเลือกที่จะค่อยๆ เรียนไปทีละชั้น แล้วก็สอบผ่านไปทีละระดับ   

          ๓.   ทุกขั้นตอนเป็นวิธีฝึกตนที่ต้อง ปฏิบัติให้ผสมผสานกัน ไปในชีวิตประจำวันตามสถานภาพของตนเอง จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย  ขั้นต้นๆ ก็เป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนขั้นที่สูงขึ้น หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือ ถ้าฝึกตนขั้นต้นได้ดีแล้วมันก็จะขยับต่อไปขั้นสูงได้โดยอัตโนมัติ

          ๔.  ฆราวาสเองก็ฝึกตนตามวิธีเหล่านี้ได้ แต่ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วิถีฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งปฏิกูล  อันนี้ก็ต้องยอมรับตามเหตุผล  แล้วก็หาทางปรับให้เหมาะสมพอดีกับกำลังของตน  ซึ่งในหนึ่งวันก็สามารถฝึกตนได้ครบทุกขั้นเช่นเดียวกับนักบวช แต่จะให้ทำต่อเนื่องไปเป็นเวลานานก็คงจะยาก เพราะมีภาระหน้าที่อย่างฆราวาส  ฉะนั้น ควรจะจัดสรรเวลาปลีกไปฝึกฝนเฉพาะเป็นช่วงๆ ให้ต่อเนื่องก็จะได้ดีขึ้น

          ๕.  กรรมฐานต่างๆ ที่สอนกันอยู่ทั่วไปนั้น ถ้าเราเข้าใจหลักมรรค ๘ อย่างชัดเจน ก็จะอธิบายได้ว่าสอดคล้องกันอย่างไร  จะได้ปฏิบัติตรงกับหลักการต้นฉบับ (เพราะสอนถ่ายทอดกันมาหลายชั้นอาจเพี้ยน)  และจะบอกได้ว่ากรรมฐานนั้นๆ มีมุ่งเน้นหนักไปในด้านไหน แตกต่างกันอย่างไร เหมาะสมกับศักยภาพของเราแค่ไหน  มันก็จะไม่เกิดความสงสัยในวิธีปฏิบัติ  แล้วก็จะมั่นใจได้ว่าไม่ได้หลงทาง  แม้หากจะต้องใช้กาลเวลายาวนาน  ความมั่นใจในเหตุผลนี่แหละจะเป็นตัวดึงศรัทธาให้มั่นคงตามไปด้วย (ไม่ใช่ว่ายิ่งปฏิบัติไปนานๆ กลับรู้สึกว่าศรัทธาก็ค่อยๆ ลดลง จากนั้นก็หย่อนความเพียรไป)

          ๖.  อานาปานสติ ก็เน้นที่การพัฒนาสติก่อน (คล้ายกับขั้นที่ ๕) ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นสภาพที่ว่า รูปัง อนัตตา ได้เช่นเดียวกัน คือรูปขันธ์หายใจอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีใครคอยบังคับ  ทีนี้พอมีกำลังสมาธิในระดับฌานแล้วก็ต้องปฏิบัติทำนองเดียวกันกับขั้นที่ ๖ คือ ต้องรู้จักสภาพอารมณ์วิตกวิจาร ปีติสุข อุเบกขา (นามขันธ์) ว่าตอนไหนจิตมีอารมณ์แบบไหน  แล้วมันเป็นอนิจจังอย่างไร ทุกขังอย่างไร อนัตตาอย่างไร  จนกว่าจะเห็นสภาพที่ว่า นาม เป็นอนัตตา มันก็จะเกิดนิพพิทา (เบื่อหน่าย) แล้วก็ถอนอุปาทานจากนามขันธ์จนสิ้นไป 
                    แต่ปัญหาที่มักพบก็คือ กรรมฐานนี้เป็นงานที่ละเอียดมาก แม้จะดูเหมือนว่าทำได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วจะทำให้เกิดประสิทธิภาพนั้นยาก เพราะคนทั่วไปมีกำลังสติไม่พอ  เมื่อมาทำกรรมฐานนี้ก็มักจะถูกความง่วงเข้าครอบงำได้ง่าย  หรือบางทีทำไปแล้วก็ชอบความสุขสงบที่เกิดจากกรรมฐานนี้มันก็ไม่เกิดนิพพิทาสักที  และถ้าฝึกตนในชีวิตประจำวันก็มักจะทำกันแค่ช่วงสั้นๆ จึงขาดความต่อเนื่อง  กำลังก็ไม่พอ ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกันกับการกำหนดอิริยาบถอื่นๆ

          ๗.   กรรมฐานที่มีการประยุกต์เพิ่มเติมกันในปัจจุบันหลายวิธี อันที่จริงก็อยู่ในหลักมรรค ๘ เพียงแต่ต่างกันในรายละเอียดว่าเน้นเริ่มต้นที่อะไร บางวิธีก็เน้นที่สติ หรือบางวิธีก็เน้นที่สมาธิ  อย่างเช่นวิธีการยกมือสร้างจังหวะ ก็ไปตรงกับขั้นที่ ๕  
          หรือ วิธีกำหนดหนอ...หนอ ถ้ากำหนดคำว่า หนอ แนบไปกับ การเห็น การได้ยิน ฯ ก็ยังจัดว่าอยู่ในขั้นที่ ๒  เพราะว่าเน้นการนึกคิดที่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบ (รูป เสียง กลิ่น ฯ) ไม่ได้มามีสติสัมปชัญญะที่ร่างกายโดยตรง  ถ้าหากกำหนดคำว่า หนอ แนบไปกับอิริยาบถต่างๆ ที่กายเคลื่อนไหว ก็จัดว่าอยู่ในขั้นที่ ๕  แต่ก็มีจุดแตกต่างคือ การกำหนดว่า หนอ เป็นการเพิ่มงานให้สติ แทนที่สติจะมีสัมปชัญญะเพ่งอยู่ที่อิริยาบถต่างๆ  กลายเป็นว่าสติต้องไปมีสัมปชัญญะที่คำว่า หนอ เองด้วย (สติวิ่งไปวิ่งมาระหว่างสองงาน) ผลก็คือกำลังสติและสมาธิจึงถูกบั่นทอนไป แต่สำหรับผู้ใหม่ก็อาจจำเป็นที่จะต้องแนบคำว่า หนอ ไปก่อนในช่วงแรก  เมื่อกำลังสติและสมาธิมีมากขึ้นก็จะทิ้งคำว่า หนอ ไป
          หรือ วิธีนึกคำบริกรรมแนบไปกับลมหายใจ (เช่น พุทโธ) คือเน้นไปที่การสร้างกำลังของสติสัมปชัญญะที่ลมหายใจ ซึ่งก็จัดว่าเป็นส่วนร่างกายเราเช่นกัน  วิธีนี้ทำนองเดียวกันกับการกำหนดว่า หนอ คือมีงานให้สติต้องมีสัมปชัญญะกับสองสิ่ง (สัมปชัญญะกับคำว่า พุทโธ และสัมปชัญญะกับ ลมหายใจ
          ๘.  ส่วนกรรมฐานกลุ่มที่ให้ ระลึกคำบริกรรมแบบโดดๆ เช่น พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  สัมมาอะระหัง  นะมะภะทะ ฯลฯ หรือการกำหนดองค์พระ กำหนดลูกแก้ว ไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง  เหล่านี้คือการเน้นไปที่การพัฒนากำลังสมาธิโดยตรงก่อน ไม่ได้กำหนดให้มีสติสัมปชัญญะที่กาย (ยังไม่เรียกว่าสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ) หลังจากนั้นค่อยปรับให้เข้าหลักการอย่างถูกต้อง  ในเบื้องต้นบางอาจารย์ก็แนะให้สังเกตศึกษาดูที่เวทนา(นามขันธ์) ว่ามันเป็นอนัตตาอย่างไร  หรือบางอาจารย์ก็แนะให้นึกคิดพิจารณาเกี่ยวกับร่างกาย(รูปขันธ์) ให้เห็นว่ามันน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดถืออย่างไร  ส่วนในเบื้องสูงก็คือต้องถอนอุปาทานจากรูปและนามทั้งหมด  จะเห็นได้ว่า มุ่งไปที่การทำให้เกิดนิพพิทาและถอนอุปาทานในรูปนาม เช่นเดียวกัน (กรรมฐานทุกวิธีต้องมีเป้าหมายเดียวกันนี้ จึงจะเรียกว่าปฏิบัติถูกตรง)  
                    แต่มักพบ ปัญหา คือ ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่สามารถปรับไปสู่การเจริญปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาอาจารย์เป็นสำคัญ  (ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าอาจารย์ชี้นำไปถูกทางหรือเปล่า)  และการเจริญกรรมฐานแบบที่เอากำลังสมาธิมาช่วยในการนึกคิดนั้น บางคนอาจจะทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นแค่การนึกคิดเอา ไม่ใช่การเห็นของจริงในปัจจุบัน มันจึงไม่ค่อยมีกำลังจะทำให้เกิดนิพพิทาได้โดยง่าย   จะเห็นว่าในสมัยพุทธกาลจึงมีการเพิ่มเหตุปัจจัยสนับสนุนเป็นอุปกรณ์เสริม เช่น ให้ไปอยู่ป่าช้าเพื่อจะได้เพ่งดูซากศพของจริงควบคู่ไปด้วย (ไม่ใช่ให้ไปอยู่ป่าช้าเพื่อฝึกให้ตัวเองกล้าหาญ ไม่กลัวผี หรือไปนั่งแผ่เมตตาให้ผี)  บางคนก็ให้เอามือลูบผ้าขาวไปด้วยบริกรรมไปด้วย หรือบางคนก็ให้นั่งเฝ้าดูดอกบัวจนกว่ามันจะแห้งเหี่ยว  (ซึ่งคำบริกรรมจะต้องมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ดูอยู่ตรงหน้า)

          ๙.   กรรมฐานที่เรียกว่า ดูจิต  หรือพูดอีกอย่างก็คือ ดูว่าสภาพจิตแต่ละขณะว่ามีอารมณ์เป็นอย่างไร  มีการเกิดขึ้นตอนไหน แปรปรวนอย่างไร  ดับไปอย่างไร  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยติดตามดูให้ต่อเนื่อง มองเผินก็อาจจะดูคล้ายกับขั้นที่ ๖  แต่จริงๆ แล้วมันเทียบได้กับขั้นที่ ๕ เท่านั้น คือเน้นเรื่องสติ  แต่ต่างกันก็ตรงที่ วิธีดูจิตนี้จะกำหนดให้มีสติสัมปชัญญะที่นามขันธ์ (ไม่ใช่ที่กายเหมือนขั้นที่ ๕)  วิธีนี้ถ้าหากนำมาฝึกตนขณะใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป มันก็ ยากที่จะดูได้อย่างต่อเนื่อง  เพราะงานดูจิตนี้มันต้องอาศัยกำลังสติและสมาธิที่ประสิทธิภาพอย่างมาก จึงจะเกิดปัญญาเห็นตามได้ชัดเจน แล้วจึงจะเกิดความน่าเบื่อหน่าย(นิพพิทา)ในนามขันธ์ได้  เปรียบเทียบก็คล้ายๆ กับว่าเอางานละเอียดมาทำในอิริยาบถหยาบ (เช่น คนวิ่งไปด้วยแล้วก็อ่านหนังสือไปด้วย) มันจึงทำได้ไม่ง่ายนัก 
                    ในหลักการขั้นที่ ๖ นั้น พระพุทธเจ้าบอกให้หยุดนิ่งและอยู่ในสถานที่อันสงัด แล้วค่อยทำงานดูจิตเพียงงานเดียว เพราะต้องใช้กำลังสมาธิและสติอย่างมาก  ทีนี้ถ้าคนทั่วไปจะดูจิตไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันนั้นมันคงจะประสบความสำเร็จได้ยาก  เพราะมี ปัญหา ก็คือ ผู้ปฏิบัติอาจแยกระหว่างจิตกับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน อาจจะเห็นอารมณ์เกิดขึ้นในช่วงแรก แต่แล้วก็เกิดอาการหลงไปในอารมณ์นั้น ไม่ได้ติดตามดูว่าอารมณ์นั้นแปรปรวน ดับไป แล้วเกิดอารมณ์ใหม่ขึ้นมาแทนตอนไหน  นานๆ จึงจะเห็นได้สักอารมณ์หนึ่ง  ทั้งที่จริงๆ แล้วอารมณ์เปลี่ยนเร็วและบ่อยมาก  และส่วนใหญ่จะเห็นได้ชัดเจนเฉพาะอารมณ์ระดับหยาบๆ เช่น โกรธ เกลียด รัก ชอบ กลัว เจ็บ ร้อน เย็น ฯลฯ  ส่วนอารมณ์วิตกวิจาร ปีติสุข อุเบกขา นั้นมันเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก จึงสังเกตดูไม่เห็น (ฉะนั้น จึงบอกว่าวิธีดูจิตไม่ใช่หลักการฝึกตนตามขั้นที่ ๖)
                    ตรวจสอบกันง่ายๆ เช่น นึกถึงตอนที่เราไปอยู่ชายทะเล แล้วก็ทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ปกติ  พอลมพัดเย็นสบาย เราเห็นสภาพจิตที่มีอารมณ์สบายๆ นั้นได้ชัดไหม  หรือขณะที่ฝนตกแต่เราอยู่ในบ้าน เรารู้สึกว่าบรรยากาศน่านอน อย่างนี้เราเห็นสภาพจิตของเราได้ชัดไหม   หรือเดิมเราใส่เสื้อสกปรก พอเราอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ เราสังเกตเห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนไปได้ชัดไหม ฯลฯ  ดังนั้น จึงเป็นการ ยากที่จะถอนอุปาทานในนามขันธ์แบบถาวรเพราะยังไม่ได้เกิดนิพพิทาในอารมณ์ละเอียด
                    ในขณะเดียวกัน อีกประเด็นหนึ่งก็คือ วิธีดูจิตนั้นเจตนาจะ ข้ามเรื่องการถอนอุปาทานในรูปขันธ์ ไปเลย  ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติแล้วไม่บรรลุผล  ตัวเองก็จะยังยึดมั่นในรูปร่างกายอย่างเหนียวแน่นอยู่เช่นเดิม  การฝึกตนด้วยวิธีนี้จึงมีโอกาสมากที่จะ คว้าน้ำเหลว ถ้ากำลังสติและสมาธิไม่พอ  แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าวิธีนี้จะทำให้สำเร็จไม่ได้  มันขึ้นอยู่กับศักยภาพเฉพาะของแต่ละบุคคล

          ๑๐.   ผู้ปฏิบัติต้องอธิบายได้ว่า วิธีนั้นๆ มีเหตุผลสอดคล้องกับมรรค ๘ อย่างชัดเจน  มิฉะนั้นอาจจะหลงออกนอกทางไปได้  เช่น ถ้ามีกำลังสมาธิ หรือได้ฌาน แล้วมุ่งจะไปเห็นนิมิตต่างๆ หรือไปทัวร์สวรรค์-นรก ไปดูกรรมเก่าในอดีต ฯลฯ นั่นคือยังอยู่ที่ขั้นอนุบาล (ใช้ประโยชน์เพื่อเสริมกำลังศรัทธา) เพราะมุ่งไปที่การอบรมให้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด  แต่ส่วนมาก็ มักเกิดปัญหา คือ ทำให้หลงไปวิตกกังวล กลัวผลของกรรมเก่าที่ตนเคยทำไว้ หรือมุ่งไปที่การทำบุญเพื่อผลชาติหน้า  มันก็เลยไม่ใช่ทางที่ตรงไปมรรคผลนิพพาน  และ อีกปัญหา คือ เมื่อทำไปนานๆ แล้วสมาธิก็ยังไม่มีกำลัง หรือสมาธิมีกำลังบ้าง อ่อนกำลังบ้าง เสื่อมไปบ้าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่เห็นผลชัดเจน ทำให้รู้สึกไม่ก้าวหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดความต่อเนื่องสม่ำเสมอ หย่อนความเพียร เพราะทำไปด้วยศรัทธาที่ฉาบฉวย  แล้วในที่สุดก็ท้อถอยไป 

          ๑๑. กำลังในการฝึกตนนั้นประเมินได้จาก ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา 
                    ถ้าความเพียรหย่อน ก็แสดงว่าศรัทธาไม่มากพอ 
                    ถ้าสติไม่เด่น ก็แสดงว่าความเพียรในการเจริญสติไม่มากพอ 
ถ้ากำลังสัมมาสมาธิไม่พอ ก็แสดงว่ากำลังสติไม่มากพอ
(สัมมาสมาธิ คือสมาธิใช้เพื่อการถอนอุปาทานในขันธ์ห้า) 
                    ถ้ากำลังปัญญาไม่พอ ก็แสดงว่ากำลังสัมมาสมาธิไม่มากพอ  (ปัญญาในขั้นถอนอุปาทานขันธ์)
                    สาเหตุที่ศรัทธาไม่มากพอที่จะหนุนให้ทำความเพียร  ก็เป็นเพราะความรู้ในหลักธรรมะน้อยเกินไป (ขั้นการอ่าน ฟัง คิด)  โดยเฉพาะความรู้ในหลักธรรมเรื่อง อริยสัจ ๔  มรรค ๘  กฎเรื่องกรรม  กฎเรื่องภพชาติ(ปฏิจจสมุปบาท)  ก็เลยยังไม่เห็นภัยในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ผิดหวัง ฯลฯ  ไม่เห็นโทษของกามคุณ  จึงยังประมาทอยู่  ไม่ได้มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้  การเจริญกุศลทั้งหลายก็หวังจะได้ผลดีในภพชาติถัดไป  (ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เห็นโทษของการเกิด)  งานนี้จึงต้องอาศัยความฉลาดในกลยุทธ์ส่วนตัวว่าจะเพิ่มกำลังศรัทธาได้จากวิธีใด เช่น อาศัยผู้นำพาหรือหมู่คณะ  อ่านและฟังธรรมที่ชี้โทษภัยในการเกิด  อ่านประวัติพระสาวกผู้มีปฏิปทาน่ายกย่อง ฯลฯ

          ๑๒.  คำสอนเรื่องวิธีฝึกตนตามลำดับขั้น เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาพุทธศาสนา จำเป็นจะต้องมีการปฏิบัติตนหรือฝึกตนด้วยเทคนิคเฉพาะ (Learning by Doing)  เพื่อให้เกิดการสัมผัสกับรสชาติอันแท้จริง  คำสอนพุทธศาสนาไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือบทกวี  แต่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับชีวิตคนเราตลอดเวลา  ถ้าหากเข้าใจแค่ขั้นของการขบคิดด้วยเหตุผลตามข้อความในตำราหรือคำเทศน์ มันก็เป็นของง่ายใครๆ ก็เข้าใจร่วมกันได้  การศึกษาธรรมะต้องศึกษาที่จาก ของจริง ที่เผชิญหน้าอยู่จริง ในปัจจุบัน (ทุกวินาที) ที่เกิดกับตนเองและรู้สึกได้ เฉพาะตน   เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว ความคิดก็ต้องเปลี่ยนไป และเหตุผลในการกระทำก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย (ทำกิริยาเหมือนกัน แต่ไม่มีความเป็นอัตตา)  
          ฉะนั้น นอกจากจำเป็นจะต้องศึกษาในภาคทฤษฎีแล้ว ก็ยังจำเป็นจะต้องศึกษาในขั้นของการฝึกตนตามวิธีเทคนิคเฉพาะเพิ่มเติมอีกด้วย  ซึ่งในมรรค ๘ ก็จะเห็นว่ามีเพียงข้อ ๑ (สัมมาทิฏฐิ) เท่านั้นที่เป็นการศึกษาขั้นการอ่านและฟัง จากคนอื่น  ส่วนที่ข้อ ๒ (สัมมาสังกัปปะ) เน้นไปที่การขบคิด สอนตน  ส่วนมรรคอีกทั้ง ๖ ข้อ ต้องลงมือ ฝึกตน จึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งได้  แม้ว่าในประวัติสมัยพุทธกาลจะกล่าวไว้ว่า บางคนแค่ได้ฟังเทศน์เรื่องเดียวก็บรรลุธรรมได้เลย นั่นเพราะเขาได้ทำการศึกษามามากแล้วในชาติก่อนๆ ศักยภาพเขามีเพียงพอ  ส่วนเราๆ นั้น อย่าได้ประเมินศักยภาพของตัวเองสูงเกินไปนัก

          ๑๓.  เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่วิธีฝึกตนตามลำดับขั้น ไม่ได้ค่อยรับการเผยแพร่ให้รู้จักกันมากนัก และไม่ค่อยได้รับความสนใจแม้แต่ในหมู่นักปฏิบัติ  ทั้งๆ ที่เป็น คำสอนจากพระโอษฐ์ และ มีความชัดเจนมาก  อาจเป็นเพราะนักปฏิบัติก็มุ่งก้มหน้าก้มตาจะปฏิบัติ ไม่ค่อยสนใจศึกษาพระไตรปิฎก ส่วนมากมักจะฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ซึ่งก็ไม่ได้พูดร้อยเรียงให้ต่อเนื่องชัดเจน  มักพูดเจาะรายละเอียดเป็นประเด็น เป็นครั้งคราวไป   ก็เลยขึ้นอยู่กับสติปัญญาของศิษย์ว่าจะสามารถมองภาพได้ชัดเจนแค่ไหน  ถ้าศรัทธามีพอก็ดีไป ความเพียรก็จะไม่ย่อหย่อน ก็มีโอกาสสำเร็จผลได้  แต่ส่วนมากแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปความเพียรมักจะลดลง เพราะไหลไปตามกระแสโลก (โดยเฉพาะภาระหน้าที่ทางโลก) จึงมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ผลการปฏิบัติมันเกิดขึ้นในทันที (ถ้าปฏิบัติถูกต้องและรู้จักสังเกตดู  ศรัทธาและความเพียรก็จะต้องเพิ่มขึ้น)
                    ส่วนนักปริยัติก็มุ่งก้มหน้าก้มตาเรียนจะให้ได้วุฒิบัตรเพื่อยศตำแหน่ง ขาดการเชื่อมโยงจากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ จึงเป็นเหมือนตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ เมื่อตัวผู้ศึกษาเองยังไม่ได้รับประโยชน์ในขั้นสูง จึงเห็นค่าพุทธศาสนาเพียงแค่ขั้นศีลธรรม (ทาน ศีล) หรือถ้าสอนเรื่องสมาธิก็จะให้เอาแค่ขั้นความสงบเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                    ส่วนพวกที่เรียนอภิธรรมก็มักจะมุ่งไปที่การท่องจำ เรียนเพื่อจะรู้ให้มันละเอียด จนเกิดอาการคิดซ้ำคิดซาก คิดวกวนอยู่แต่กับเรื่องเหตุผลในคำศัพท์ตามตำรา แต่ไม่ค่อยได้สังเกตดูของจริงที่มันโชว์อยู่ในปัจจุบัน (รสชาติธรรมะของจริงมันลึกซึ้งยิ่งกว่าคำศัพท์สมมติที่อธิบายในตำรา)  บางคนพอรู้สึกว่าตัวเองแตกฉาน ใครพูดอะไรมาเราก็รู้หมด แทนที่จะหันมาศึกษาจากการฝึกตนเพิ่มเติม  กลับคิดอยากจะไปเป็นครูสอนคนอื่นต่อไปอีก หรือเอาความรู้จากตำรามาเรียบเรียงใหม่อีก  โดยตั้งความหวังไว้ลึกๆ ว่าถ้าอ่านและฟังไปมากๆ สักวันมันคงจะบรรลุธรรมได้เองเหมือนบางคนในสมัยพุทธกาล  แม้ชาติหน้าอีกแสนไกลเท่าไรก็จะรอ (เห็นภัยยังไม่พอ)
                    อุปมาเหมือน คนอยากจะเข้าใจเรื่องลิงก็เลยไปค้นคว้าอ่านตำราและดูรูปภาพลิงตั้งมากมาย เขาก็ย่อมสามารถจะอธิบายเรื่องลิงได้อย่างแตกฉาน แม้ว่าจะยังไม่เคยเห็นตัวลิงจริงๆ เลยสักครั้ง หรืออย่างมากก็เคยเห็นแว๊บๆ  แต่เมื่อมีคนชวนให้ออกไปเฝ้าสังเกตศึกษาพฤติกรรมของลิงในป่าเป็นเวลานานๆ ก็ไม่ค่อยอยากจะไป เพราะการเข้าป่ามันลำบากยุ่งยาก (ไม่สะดวกสบายเหมือนนั่งอ่านและดูภาพถ่าย)  ซึ่งถ้าหากได้ไปสังเกตศึกษาพฤติกรรมของลิงจริงๆ ในธรรมชาติอย่างละเอียด จะเห็นได้เลยว่ามันมีรายละเอียดมากกว่าที่เขียนไว้ในตำราหรือรูปถ่ายเสียอีก  ความรู้จากประสบการณ์ตรงมันฝังแน่นกว่าความรู้จากตำรา  คราวนี้หากจะเขียนเป็นหนังสือให้มันได้มากกว่า ๔๕ เล่ม ก็ทำได้
-----------------------------------------

บทสรุปวิธีฝึกตนตามลำดับขั้น
เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการฝึกตนในชีวิตประจำวัน

ขั้นอนุบาล  อ่านและฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา
          พยายามจัดสรรเวลาสำหรับอ่านหนังสือธรรมะหรือฟังเทศน์ในหลักธรรมที่ส่งเสริมให้เกิด ความเบื่อหน่ายและเห็นภัยในการเวียน ว่าย ตาย เกิด

ขั้นที่ ๑  เป็นผู้มีศีล
          ชาวพุทธส่วนใหญ่รู้จักศีลห้า เพียงแค่เราตื่นเช้าขึ้นมาแล้ว ระลึกทุกวัน ว่าวันนี้เราจะตั้งใจงดเว้นทุจริตในศีลห้า แล้วจากนั้นก็พยายามทำให้ได้ แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว

ขั้นที่ ๒  สำรวมอินทรีย์ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
          เมื่อมีสิ่งเข้ามากระทบ ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้แต่ความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองภายใน  ก็ให้ฝึกตนโดยการพยายาม สำรวมความคิด ไม่ให้รู้สึกยินดียินร้ายไปกับมัน อบรมด้วยเหตุผลอันเป็นสัจธรรมว่า มันก็แค่นั้นเอง  (ควรนำตัวเองหลีกเลี่ยงจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดความหลง เช่น ถือศีล ๘ เป็นช่วงๆ) 

ขั้นที่ ๓  รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร
          ก่อนลงมือรับประทานอาหาร (หรือเลือกซื้อ) ให้ตั้งใจสัก ๒-๓ นาที อบรมตัวเองไว้ว่า เราไม่ได้บริโภคเพื่อมัวเมาหรือเพื่อประดับตกแต่ง แต่บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้พอตั้งอยู่ได้ ฯลฯ (ตามที่ระบุในคำสอน)

ขั้นที่ ๔  เพียรในกิจอันเป็นเครื่องตื่น มีสติสัมปชัญญะในการ เดิน นั่ง
          พยายามกำหนดสติ เพ่งไว้ที่ตัวเราทั้งก้อน (เหมือนจ้องดูสัตว์สักตัวหนึ่ง) ให้เห็นว่าตัวเรากำลังเดินอยู่ หรือกำลังนั่งอยู่ (ขณะที่ไม่มีกิจอื่นให้กังวล) ซึ่งต้องอาศัยเวลาอันต่อเนื่อง และฝึกอย่างสม่ำเสมอ  แต่ถ้ามีกิจอื่นที่จำเป็นต้องไปทำ ก็หยุดฝึกไว้ก่อน พอมีจังหวะก็ค่อยฝึกใหม่

ขั้นที่ ๕  มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถย่อยของกาย
          คล้ายกับขั้นที่ ๔  แต่เน้นไปที่การกำหนดสติให้ เพ่งไปที่การขยับเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถย่อย (ตามที่ระบุในคำสอน) ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดกว่า จำเป็นต้องอาศัยเวลาอันต่อเนื่อง และฝึกอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

ขั้นที่ ๖  อยู่ในสถานที่อันสงัด คอยชำระจิต
          จำเป็นต้องอาศัยสถานที่อันสงัด (ห้องที่ไม่มีใครรบกวนก็ได้) แล้วนั่งนิ่งๆ ตั้งสติให้รู้ไว้ ณ ปัจจุบันสักหนึ่งงาน เช่น ดูลมหาย หรือดูท้องพอง-ยุบ ฯลฯ พยายามกำจัดนิวรณ์ ๕  จากนั้นเฝ้าสังเกตศึกษาที่อารมณ์วิตกวิจาร ปีติสุข และอุเบกขา ต้องเห็นตั้งแต่อารมณ์เหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น จนกระทั่งดับไป แล้วเปลี่ยนเป็นอารมณ์ใหม่  ข้อสังเกตคือ ถ้ายังกำจัดนิวรณ์ไม่ได้ (โดยเฉพาะความง่วง) หรือหลงใหลไปกับอารมณ์ปีติสุข อุเบกขา จนแยกไม่ออกว่ามีแค่ สิ่งรู้ กับ สิ่งที่ถูกรู้ แสดงว่าสติยังไม่มีกำลังเพียงพอ ให้เน้นหนักไปฝึกตนในขั้นที่ ๕ เพิ่มขึ้น
-------------------------------------------------------------------------------------
สำหรับเรื่อง "มรรคองค์ ๘"  ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากบันทึก ครั้งที่ ๔๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น