2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๔ บทสรุป ตอนที่ ๑๐ "ศึกษาพุทธศาสนาแค่ขั้นการอ่านและฟัง พอแล้วหรือ"

๓.๘  ศึกษาพุทธศาสนาแค่ขั้นการอ่านและฟัง พอแล้วหรือ


          ผลสูงสุดที่เกิดจากการศึกษา คือการนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อให้ตนได้สำเร็จประโยชน์ตามหลักการนั้น
          ยกตัวอย่าง เราต้องการจะเข้าใจชีวิตของลิงตัวหนึ่ง  แม้จะอ่านหรือฟังมากเพียงใด ถ้าไม่เคยได้เห็นตัวลิงนั้นจริงๆ  มันก็ได้แค่นำเอาข้อมูลต่างๆ นั้นมาบวกกับประสบการณ์เดิมที่เคยรู้เรื่องสัตว์อื่นๆ มาบ้าง และเราก็จินตนาการไป ซึ่งก็อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง  ยิ่งอ่านมากยิ่งฟังมากถ้าประมวลดูก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่แตกต่างกันในขั้นรายละเอียด  ซึ่งมันก็มีมากมายไม่รู้จบ  ถ้าคนมีความจำมีปัญญาดีก็สามารถจำเรื่องราวได้มาก แล้วก็อธิบายเชื่อมโยงได้มากอย่างสมจริงสมจัง  แม้ว่าเขาจะไม่เคยเห็นลิงนั้นด้วยซ้ำ
          แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราได้เห็นลิงตัวนั้นจริงๆ ตามสภาพที่มันดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ เราจะเข้าใจเรื่องราวที่คนอื่นเขาเขียนเอาไว้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  และเมื่อเราได้เฝ้าสังเกตศึกษาลิงนั้นด้วยตัวเราเอง เราก็จะสามารถรู้เรื่องลิงนั้นได้อย่างชัดเจนทั้งในแง่ที่คนอื่นเขียนไว้ และแง่ที่คนอื่นยังไม่ได้เขียน  เราก็เชื่อเพราะเราเห็น ไม่ใช่เชื่อเพราะเขาเล่า  ถ้าเราจะเขียนเป็นตำราเองบ้างมันก็เขียนได้อีกมากมายเช่นกัน  เพราะมันขึ้นอยู่กับความสามารถในด้านการใช้คำศัพท์ ภาษาพูด ภาษาเขียนที่ใช้ในการสื่อสาร  ดังนั้น ถ้าต้องการจะรู้เรื่องลิงนั้นจริงๆ ก็จำเป็นจะต้องเห็นลิงนั้นด้วยตนเอง และสังเกตศึกษามันด้วยตนเอง  แค่ขั้นการอ่านหรือฟังแล้วคิดคำนวณด้วยหลักเหตุผลนั้นยังไม่พอที่จะรู้จริง
          ตัวอย่างเช่น พระติฏโฉโปติละ เป็นผู้ที่แตกฉานในคำสอนมาก สามารถอธิบายเนื้อหาให้คนอื่นเข้าใจได้มากมาย แต่พระพุทธเจ้าก็เรียกท่าน ใบลานเปล่า เพราะท่านเพียงแค่เข้าใจเรื่องราวในระดับที่ขบคิดด้วยเหตุผลตามได้ แต่ท่านยังก็ไม่ได้เห็นรูปนามในสภาพที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติจริงๆ  ท่านจึงไปขอคำแนะนำจากสามเณรซึ่งเป็นอรหันต์ แล้วท่านก็ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างถูกต้อง ก็ได้เห็นรูปนามตามสภาพที่มันจริงในธรรมชาติ และคลายความยึดมั่นออกเสียได้
          เพราะบางคนเรียนจากตำราและฟังเทศน์มากมาย จนเกิดอาการรู้สึกว่าเหมือนตัวเองรู้เรื่องธรรมะดีแล้ว ใครพูดอะไรมา เราก็เข้าใจไม่ติดขัด  เหมือนกับว่าปล่อยวางเรื่องต่างๆ ได้  แต่ในสายตาของผู้รู้ หรือผู้มีประสบการณ์ เขาจะก็มองออก เพราะทุกอย่างมันสะท้อนออกมาที่การกระทำ คำพูด หรือความเห็นที่กล่าวออกมา
          ยกตัวอย่างเช่น  มีคนชายคนหนึ่ง สามารถอธิบายธรรมะได้อย่างมีหลักการ ตรงตามตำราเลยในหลายๆ เรื่อง  และเขาก็บอกว่า เขาไม่ยึดติดในรูปร่างกายนี้หรอก เพราะมันเป็นแค่ธาตุสี่อย่างมาประกอบกันคือดิน น้ำ ลม ไฟ  ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา”  แต่ในรถยนต์ของเขามีขวานอันใหญ่มาก เขาบอกว่าเอาไว้ป้องกันตัว เพราะมีศัตรูคอยจ้องทำร้าย  นี่คือพฤติกรรมที่มันขัดกันกับความรู้ธรรมะ  ถ้าหากศัตรูมาทำร้ายตนเองก็จะใช้ขวานนี้ทำร้ายเขาอย่างนั้นหรือพฤติกรรมนี้มันแสดงให้เห็นถึงว่ายังมีความยึดมั่นในรูปร่างกายนี้ คือยังมีอัตตาอยู่ จึงรักตัวเอง หวงตัวเอง พร้อมจะทำร้ายคนอื่นเพื่อให้ตนเองปลอดภัย  ถ้าลองกลับไปเปรียบเทียบกับหลักมรรคมีองค์แปด จะเห็นเลยว่าพฤติกรรมนี้มันขัดกับหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ (ในทีนี้ไม่ได้บอกว่าห้ามป้องกันตัว เราสามารถป้องกันตัวได้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่อย่าเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามันสุดวิสัยที่จะป้องกันแล้วก็ต้องยอมรับ อย่างที่นิยมพูดกันติดปากว่าปล่อยวาง เมื่อพูดได้ก็ต้องทำได้)
          หรือยกตัวอย่างว่า เราจะทำขนมเค้กสักก้อนหนึ่งให้อร่อย เราท่องสูตรตามตำราได้คล่องเลยชนิดที่ว่าเป็นครูสอนในห้องเรียนก็ยังได้  แต่ถามว่าเราได้กินเค้กก้อนนั้นหรือยัง  ทีนี้พอเราลงมือทำเองเราจึงจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนมันละเอียดกว่าในตำรา บางขั้นตอนมันเข้าใจไม่ได้ด้วยภาษาพูดหรือเขียน เช่น การตีแป้ง ตีส่วนผสม สีของขนม ความนุ่ม ความชำนาญในการแต่งหน้าเค้ก ฯลฯ  มันต้องอาศัยทักษะหรือประสบการณ์เฉพาะตน ซึ่งต้องประกอบกับความพากเพียร ความตั้งใจ และสติปัญญาในสังเกตเรียนรู้  จึงจะสามารถทำเค้กออกมาได้ตามมาตรฐาน  บางคนก็ทำได้ในเวลาไม่นาน แต่บางคนก็ต้องทำแล้วทำอีกจึงสำเร็จ บางคนท้อถอยเลิกไปก่อน บางคนทำทั้งชีวิตก็ยังไม่ได้ก็มี
          นั่นคือตัวอย่างเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาธรรมะในเรื่องรูปนาม ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเที่ยวไปหาดูรูปนามจากที่ไหนอื่นไกล เพราะรูปนามก็คือตัวเรา ก็คือกายกับใจของเราในขณะนี้เอง ถ้าเรารู้จักวิธีดูเราก็สามารถสังเกตศึกษามันได้ทันทีในขณะนี้เลย  จะเห็นได้จากตัวอย่างในสมัยพุทธกาล คนที่นั่งฟังเทศน์ครั้งเดียวแล้วสามารถพิจารณาสังเกตกายและใจของตัวเองตามไปด้วย ก็สามารถรู้จริงได้ถึงขั้นบรรลุอรหันต์เลยก็มี  โดยไม่จำเป็นต้องฟังเทศน์มากมาย หรือเรียนพระไตรปิฎกจนแตกฉาน  ไม่จำเป็นต้องหลบไปอยู่ในป่าช้า ภูเขา ท้องถ้ำ ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญทำทานให้มากๆ  ไม่จำเป็นต้องไปถือศีลให้บริสุทธิ์ก่อน  ไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้มีสมาธิในขั้นเข้าฌานได้จนเห็นนรกสวรรค์อดีตอนาคต  ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดทรมานให้ร่างกายลำบากยุ่งยากกับปัจจัยภายนอก ก็ได้ 
          สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือเป็นส่วนเสริมหรือส่วนสนับสนุน ไม่ใช่ส่วนหลัก  มันอยู่ที่ศักยภาพของแต่ละคน ไม่มีอะไรตายตัว  คนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน  ขอเพียงแค่เข้าใจหลักการอย่างชัดเจน แล้วก็เริ่มปฏิบัติตามไปตามหลักการนั้น  ถ้ายังไม่สำเร็จในทันที ก็ค่อยๆ ประเมินผลและปรับปรุงไปเรื่อยๆ  บางคนก็ทำได้เร็ว บางคนก็ทำได้ช้า เป็นเรื่องธรรมดาเพราะแต่ละคนมันมีศักยภาพต่างกัน  ขอเพียงประเมินศักยภาพของตนเองให้ถูกต้อง ยิ่งถ้ามีผู้ช่วยแนะนำที่ดีก็ยิ่งมีโอกาสบรรลุผลได้เร็ว
          ว่ากันถึงเรื่องศักยภาพนั้น สิ่งที่เน้นมักว่ากันที่เรื่องสติปัญญาก็จริงอยู่ แต่มันก็ต้องมีความเพียร และความตั้งใจมั่น เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยจึงจะกระทำการอันใดได้ผลสำเร็จ  หลักการทางพุทธศาสนาจึงวัดศักยภาพหรือกำลังของบุคคลด้วย ๕ องค์ประกอบ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (ไม่ได้ระบุเลยว่าต้องอาศัยกรรมเก่าในชาติก่อน)  ซึ่งความจริงตามธรรมชาติทั้ง ๕ อย่างนี้มันก็รวมกันอยู่เป็นหนึ่งเดียวอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีสัดส่วนขององค์ประกอบอะไรมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง  มันก็แล้วแต่ว่าใครมีอุปนิสัยเน้นไปทางไหน  บางคนเริ่มต้นจากการมีศรัทธานำหน้าอย่างอื่นก็ได้    
          ยกตัวอย่างเช่น พระวักลิ ท่านเป็นผู้มีศรัทธามากในเบื้องต้น ครั่งไคล้ในรูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้า วันๆ เอาแต่วิ่งตามพระพุทธเจ้า ขอให้ได้เห็นหน้าได้ยินเสียงก็ชื่นใจแล้ว (แฟนคลับดารานักร้องจะเข้าใจอาการนี้ดี) ไม่ได้คิดจะปฏิบัติตนตามคำสอนอะไรมากมาย ฟังเทศน์ก็เอาแต่เคลิ้มน้ำเสียงของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ขบคิดอะไรตามไปสักเท่าไรหรอก  แต่ด้วยความที่พระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดแห่งครู ท่านก็รู้วิธีที่จะสอน ท่านดุเอาจนพระวักลิจะไปโดดหน้าผาตาย (อารมณ์น้อยใจขนาดไหนคิดดู)  พอพระพุทธเจ้าไปถึงก็เทศน์ให้ฟังเรื่อง รูปร่างกายไม่เที่ยง ไม่น่าเป็น ไม่น่าเอา ซึ่งขณะนั้นพระวักลิก็เลิกเคลิ้มแล้ว ก็เลยตั้งใจฟังแล้วพิจารณาตาม แล้วท่านก็บรรลุอรหันต์ได้ในขณะนั้น (เมื่อกี้คิดจะฆ่าตัวตายอยู่แท้ๆ แล้วก็เปลี่ยนอารมณ์จนบรรลุอรหันต์ได้)  ถ้าวิเคราะห์ดูในระดับภายนอกก็ไม่ใช่ว่าพระวักลิจะมีแค่ศรัทธามากเพียงอย่างเดียว ท่านก็มีความเพียรมากด้วย (เหมือนแฟนคลับวิ่งตามไปดูดารานักร้องทุกงาน) สติก็มีมาก แม้จะไม่ใช่สติปัฏฐานสี่ แต่ก็เป็นสติในกุศล  กำลังสมาธิก็มีมากคือจดจ่อตั้งมั่นอยู่ที่การเฝ้าติดตามพระพุทธเจ้า (ไม่ฝึกจนเข้าฌาน)  และข้อคิดอีกอย่างที่ได้คือ ได้ครูอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมก็ถือว่าได้มีเหตุปัจจัยอันยอดเยี่ยมด้วย
          อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ท่านองคุลีมาล ท่านไปเที่ยวไล่ฆ่าคนจนถึง ๙๙๙ คน คิดดูว่าท่านหลงผิดมากขนาดไหน ท่านได้มาอบรมตนให้เป็นผู้มีศีลห้าบริบูรณ์ดีแล้วหรือเปล่า งดเว้นจากการฆ่าหรือเปล่า แต่พอได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์แค่ครั้งเดียวก็บรรลุอรหันต์ได้เลย  นี่จะชี้ให้เห็นว่า ความคิด ความเห็น หรืออารมณ์ของคน มันเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วมาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มต้นที่การถือศีลห้าให้ได้ก่อนเสมอไป  พระพุทธเจ้าก็บอกไว้ว่าศักยภาพของมนุษย์ปกติทั่วไปเพียงพอที่จะบรรลุอรหันต์ได้ในชาติเดียว (ยกเว้นเพียงแค่พวกที่ทำอนันตริยกรรม คือ ทำร้ายพระพุทเจ้าให้ห้อเลือด ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำลายสงฆ์ให้แตกแยก)  วิเคราะห์ต่อไป ถึงขนาดว่าพระภิกษุฆ่าคนตายสักคนหนึ่ง กติกาสงฆ์ถือว่าทำผิดร้ายแรงถึงขั้นถูกไล่ออกคือให้สึกไป (ส่วนโทษทางกฎหมายก็อีกเรื่องหนึ่ง)  แล้วอย่างนี้มีโอกาสบรรลุเป็นอริยบุคคลได้ไหม เปรียบเทียบกับอนันตริยกรรมดูซิ อันนี้น่าคิด  แต่ทั้งนี้ศักยภาพของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน  ท่านองคุลีมาลทำได้ แต่คนอื่นอาจทำไม่ได้  พระภิกษุฆ่าคนตาย กับชาวบ้านฆ่าคนตาย เหตุปัจจัยมันก็ย่อมไม่เหมือนกัน ผลกรรมทางกฎหมายอาจจะได้รับคล้ายกัน แต่ผลกรรมทางด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม และผลกรรมที่เกิดภายในจิตใจของบุคคลนั้น ก็จะแตกต่างกัน เป็นความละเอียดในเรื่องกฎของกรรม (อจินไตย)
          อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ท่านอุทกดาบส และท่านอาฬารดาบส ทั้งสองท่านนี้เป็นฤๅษีที่มีความเก่งเรื่องกำลังสมาธิ จนถึงขั้นสูงสุด แต่ท่านก็ไม่ได้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรูปนามเลย ทำให้ท่านไม่ได้บรรลุเป็นอริยบุคคล  ตรงนี้จะชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้ใช้กำลังสมาธิมาสนับสนุนการศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องรูปนามแล้วก็ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดเลย  แต่อย่างไรก็ตาม กำลังสมาธิที่ยอดเยี่ยมก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพ เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ท่านนึกหาคนที่มีศักยภาพมากที่สุดที่ท่านจะไปสอนได้ ท่านก็นึกถึงดาบสสองท่านนี้ เพียงแต่สองท่านนี้ตายไปก่อน ท่านก็เลยนึกถึงปัญจวัคคีย์เป็นลำดับถัดไป  
          หรือแม้แต่พระเทวทัตซึ่งสำเร็จฌานสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ เคร่งครัดขนาดเรียกร้องให้พระพุทธเจ้าตั้งกฎให้หมู่ภิกษุกินมังสวิรัติ (พระพุทธเจ้าเพียงแค่บอกว่าใครรู้สึกรังเกียจ หรือถ้าได้เห็นได้ยินว่าเขาฆ่าแบบเจาะจงนำมาให้โดยเฉพาะ จึงงดเว้นเสีย)  พระเทวทัตก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมขั้นใด
          อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นางปฏาจารา เป็นผู้หญิงที่หนีตามคนรับใช้ที่เป็นผู้ชาย แล้วต่อมาสามีตาย ลูกเล็กๆ สองคนตาย พ่อแม่และพี่ตาย ในเวลาไล่เลี่ยกัน จนตัวเองสติแตก ไม่สนใจนุ่งห่มผ้า เดินตัวเปลือยเปล่าไปตามถนน พอมีโอกาสได้เจอกับพระพุทธเจ้าซึ่งกำลังเทศน์ให้หมู่ชนฟังอยู่ หมู่ชนก็เลยจัดผ้าห่มคลุมให้ พระพุทธเจ้าสอบถามเรื่องราวแล้วก็บอกให้นางตั้งสติให้ดี แล้วเทศน์ให้นางฟัง นางก็ได้บรรลุโสดาบันในที่นั้นเอง  วิเคราะห์ดูจะเห็นว่า เมื่อตะกี้ยังสติแตกแทบบ้าอยู่เลย แถมยังเคยหลงขนาดหนีตามคนรับใช้ แต่นางก็ยังสามารถบรรลุโสดาบันได้จากการนั่งฟังเทศน์แค่ครั้งเดียว  แม้ตำราจะบอกว่านางมีบุญเก่า แต่ถ้านางไม่ได้พบบรมครูอย่างพระพุทธเจ้า ชีวิตนางจะเป็นอย่างไร  สำหรับตัวอย่างเรื่องนี้ต้องการแค่จะชี้ให้เห็นว่า จิตใจของคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว (กำลังของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ก็เช่นกัน)
          หรือบางคน อย่าง พระนันทะ จำใจบวชเพราะรู้สึกเกรงใจ บวชแล้วก็คิดถึงแต่ภรรยา คิดจะลาสึก พอพระพุทธเจ้าพาไปดูหญิงสาวที่สวยกว่านั้นเป็นจำนวนมาก แล้วบอกว่าถ้าปฏิบัติมรรคก็จะได้หญิงสาวเหล่านั้น พระนันทะก็ปฏิบัติตนตามมรรคแล้วก็บรรลุอรหันต์ได้ ทั้งนี้เพราะว่าธรรมชาติมันมีกฎของเหตุผลครอบทุกสิ่งไว้ เมื่อสร้างเหตุอย่างไร ผลก็ต้องออกมาอย่างนั้น  แม้จะไม่ได้ต้องการรับผลจากการกระทำนั้นก็ตาม 
          หรือบางคน อย่าง พระจูฬปันถกะ ความจำไม่ดี (ภาษาชาวบ้านก็ว่าหัวขี้เลื่อย) ใช้เวลาสี่เดือนก็ยังท่องจำมนต์บทที่ยาวสี่วรรคไม่ได้ ถูกพระพี่ชายตำหนิมากจนคิดจะลาสึก  พอพระพุทธเจ้าให้อุบายโดยการให้ผ้าขาวไปผืนหนึ่งแล้วก็ให้นั่งท่องเพียงแค่ว่า ระโชหะระณัง (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับเอามือลูบไปด้วยทุกครั้ง ทำไปเรื่อยๆ ผ้าก็ค่อยๆ สกปรกเพราะขี้มือ แล้วพระพุทธเจ้าก็อธิบายให้ฟังถึงความสกปรกของร่างกายนี้ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์
          เรื่องราวประวัติของพระอรหันตสาวกเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์มาก ให้แง่คิดมากมายเกี่ยวกับปฏิบัติตนก่อนและหลังบรรลุอรหันต์  ล้วนแต่มีความน่าสรรเสริญเป็นอย่างมาก และเป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้ารับรองแล้ว  ไม่ต้องคอยด้นเดาสันนิษฐานเอาว่าใครบ้างเป็นพระอรหันต์ หรือให้ระดับสาวกมารับรองกันเองเหมือนในยุคปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น