2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๓ บทสรุป ตอนที่ ๙ "กฎของกรรม"

๓.๗  กฎของกรรม


            กรรม คือ การกระทำ (เหตุ)
            ผลกรรม (วิบากกรรม) คือ ผลของการกระทำ (ผล) หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากได้กระทำกรรมนั้นไปแล้ว
            กฎของกรรม คือ กฎของเหตุและผล เมื่อมี การกระทำเกิดขึ้น แล้วก็จะมี ผลเกิดขึ้น ตามมา  เมื่อ มีเหตุก็ย่อมมีผล หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุ   แต่สิ่งที่ต้องอธิบายกันให้ชัดเจนก็คือ ผลของกรรม หรือผลของการกระทำ นั้นย่อมเกิดขึ้นในทันที และในเวลาอันใกล้ และในเวลาอันไกล เน้นตรงที่คำว่า และ  ไม่ใช้คำว่า หรือ เพราะว่าขณะที่เราทำกรรมหนึ่งมันก็มีต้อง มีเหตุปัจจัย อื่นอีกมากมายเข้าเกี่ยวข้องด้วย
            ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราแบมือแล้วก็กำมือไว้  ผลกรรมเกิดขึ้นทันที เช่น  มือมีการเคลื่อนไหว เกิดแรงกดที่มือ ข้อต่อกระดูกและเส้นเอ็นมีการยืดและหด  พลังงานของร่างกายถูกใช้ไปส่วนหนึ่ง  อากาศมีการเคลื่อนตัว(เกิดลม)  ฯลฯ  ผลกรรมที่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เช่น ถ้ากำมือไว้นานๆ ความร้อนเกิดที่มือ เหงื่อก็ออก ความเจ็บเพิ่มขึ้น มือเป็นตะคริว พลังงานถูกใช้ไปมากขึ้นก็ต้องหาอาหารมากิน  ฯลฯ  ผลกรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาว เช่น  ถ้ามัวแต่กำมืออยู่อย่างนั้น ถ้าเจ้าบ่าวขอแต่งงาน จะสวมแหวนให้ มันก็สวมไม่ได้ เกิดเจ้าบ่าวเปลี่ยนใจ ก็ไม่ได้แต่งงานกับเจ้าบ่าวคนนี้ ชีวิตครอบครัวในอนาคตมันก็เปลี่ยนไปทั้งหมด  ฯลฯ

            ๓.๗.๑  เรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย
                        กรรมหรือการกระทำเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดผลตามมาได้มากมาย จนยากจะคำนวณได้หมดว่ามันจะเกิดผลกรรมอย่างไรบ้าง  อาจพอเห็นได้ชัดในเวลาปัจจุบัน หรือพอจะคาดเดาได้ในเวลาอันใกล้  แต่ในระยะเวลาอันไกลแล้วเดาไม่ได้เลย  เพราะมีเหตุปัจจัยหรือกรรมอื่นๆ เข้ามาแทรกอีกมากมาย 
            ยกตัวอย่าง เช่น เราใช้ขวานฟันต้นมะม่วง  ผลกรรมหรือผลของการกระทำที่เกิดขึ้นคืออะไร
            - ต้นมะม่วงเป็นรอยแผล ถ้าฟันต่อไปเรื่อยๆ มันก็ล้มลง ต้นมะม่วงก็ตาย
            - สัตว์ที่อาศัยต้นมะม่วงก็อยู่ไม่ได้ เช่น มดแดงก็ต้องย้ายรัง แมลงต่างๆ ก็อพยพหนี 
            - คนหรือสัตว์ที่เคยได้กินผลของมะม่วงต้นนี้ ก็ไม่ได้กินอีกแล้ว
            - ต้นมะม่วงต้นนี้ก็ผลิตออกซิเจนไม่ได้แล้ว (ผลกระทบที่เกิดจากการมีออกซิเจนน้อยก็ตามมาอีก)
            - ร่มเงาของต้นมะม่วงไม่มีอีกแล้ว ใช้เป็นที่หลบร้อนไม่ได้แล้ว 
            - ต้นมะม่วงย่อยสลายไปเป็นดิน บางส่วนคนเอาไปทำฟืน (ผลกระทบจากการเผาฟืนก็ตามมาอีก)
            - ถ้าจะใช้ที่ดินตรงนั้น ก็ต้องขุดรากมันออกด้วย และเก็บเศษกิ่ง ก้าน ใบ มันออกไป
            - ถ้าต้นมะม่วงนั้นไม่ใช่ของเรา  ก็จะเกิดปัญหากับเจ้าของเขาอีกมากมาย         
            - ฯลฯ
            ผลของกรรม หรือผลของการกระทำแต่ละอย่าง มันเกิดเรื่องราวตามมาอย่างมากมายและซับซ้อน อย่างกรณีนี้แค่ตัดต้นมะม่วงเพียงต้นเดียว ผลที่ตามมามันมีผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อตัวเรา คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้อื่น ตลอดไปจนสภาพแวดล้อมต่างๆ  จะบอกว่ามันมีผลกระทบไปทั้งจักรวาลเลยก็ยังได้ 
            และมันไม่ใช่แค่เกิดผลกระทบในเวลานี้  ลองคิดไปว่าอีกสิบปี อีกร้อยปี ถ้ามีต้นมะม่วงและไม่มีต้นมะม่วงอยู่ในเวลานั้น  มีผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลานั้นไหม  ถ้าว่ากันในระดับละเอียดแล้ว ก็คือ กรรมที่ทำแต่ละอย่างมันมีผลกระทบตลอดเวลา นับตั้งแต่ได้เริ่มกระทำลงไป (อันนี้ไม่ต้องว่ากันถึงชาติก่อน) ซึ่งดูแล้วมันพัวพันกันวุ่นวายไปหมด สมกับคำที่พระพุทเจ้าตรัสไว้ว่า เรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย
            ดังนั้น ถ้าอธิบายกฎของกรรมในระดับละเอียดนั้น บอกได้เลยว่ามีความ แปรปรวนมาก จะทำนายให้ชัดเจนลงไปเลยไม่ได้  ก็ได้เพียงแต่คาดเดาแบบกว้างๆ  ที่พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย เพราะมันเกินวิสัยของใครจะไปคิดคำนวณได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ (เพราะมันไม่มีจบ)  
            ทีนี้อย่างที่สอนกันว่า บริจาคทาน เกิดชาติหน้าได้จะร่ำรวย ซึ่งจะระบุให้ชัดเจนลงไปในรายละเอียดไม่ได้เลยว่า อีกกี่ชาติจึงจะรวย หรืออาจจะรวยชาตินี้เลยก็ได้ (กรรมอื่นๆ ที่เราทำมันก็มีอีกมากมาย กรรมไหนจะให้ผลอย่างไรก็ยังไม่รู้)  หรือจะรวยได้นานแค่ไหน (กรรมอื่นที่เราทำไว้ อาจจะตัดรอนผลกรรมอันนี้ก็ได้ เช่น เกิดมารวยแต่ไม่นานก็มีไฟไหม้บ้าน มีโจรปล้น หรือเกิดมารวยแต่รูปร่างพิการ หรือเกิดมารวยแต่ปัญญาอ่อน หรือเกิดมารวยแต่ไม่สมหวังเรื่องความรัก หรือเกิดมารวยแต่ลูกผลาญหมด ฯลฯ)  แต่กระแสนิยมยุคนี้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสร้างกรรมแบบคาดหวังผล  ทั้งๆ ที่มันไม่มีความชัดเจนเลย  บางทีมุ่งคิดแต่เรื่องกุศลที่ตัวเองได้ทำ จนลืมเรื่องอกุศลที่ตัวเองก็ได้ทำไว้มากมายเช่นกัน  นี่จึงทำให้ ไม่เห็นภัยที่จะตามในการเกิด  อุปมาก็เหมือนคนซื้อล็อตเตอรี่ (สักร้อยใบก็ได้) ตอนที่ผลรางวัลยังไม่ประกาศ ใบล็อตเตอรี่เหล่านั้นก็มีคุณค่าสูง  แต่พอรู้ว่าไม่ถูกรางวัล ใบล็อตเตอรี่เหล่านั้นก็กลายเป็นมีคุณค่าเพียงแค่กระดาษตามสภาพจริงของมัน  แม้บางคนจะพยายามคิดหาวิธีสร้างประโยชน์จากกระดาษเหล่านั้น  แต่มันก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ได้จากการถูกรางวัล

          ๓.๗.๒  ผลของกรรมให้ผลทั้งด้านภายนอกและด้านภายใน

                        หลักเกี่ยวกับผลของกรรมนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าผลของกรรมจะเกิดขึ้นทั้งในด้านภายนอกและด้านภายใน ส่วนจะผลที่เกิดขึ้นนั้นก็ยังสอดคล้องกับเหตุปัจจัยต่างๆ เช่นเดิม
                        ผลภายนอก ก็คือเมื่อได้กระทำการอะไรออกไปทางกาย หรือทางวาจา ก็จะเกิดผลกระทบไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเรา อาจจะเป็นคน เป็นสัตว์ หรือวัตถุภายนอก  ทำให้สิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นมีการแปรปรวน เปลี่ยนแปลง แล้วก็เลยเกิดผลกระทบกลับมาสู่ตัวผู้กระทำด้วย แต่จะช้าหรือเร็ว จะรูปแบบไหน ก็ยังมีความเป็นอจินไตยอยู่เช่นเดิม  ซึ่งผลด้านภายนอกนี้ทุกคนก็พอทราบกันดี ยกตัวอย่างเช่น เราไปลักขโมยของใคร ผลที่ตามก็คือ เราได้ของนั้นมา เจ้าของเขาก็ตามหา ถ้าเราถูกจับได้ก็อาจจะถูกลงโทษตามกติกาสังคม แต่ถ้าไม่มีใครจับได้เลย เราก็ไม่ได้รับโทษทางสังคม (แต่โทษทางอื่นๆ ก็ยังมี) 
                        ผลภายใน นั้นไม่ว่าจะเกิดการกระทำทางกาย หรือทางวาจาออกไปแล้ว หรือแม้เพียงแค่การคิดแต่ยังไม่ได้กระทำ มันก็เกิดผลแล้วทันที ต่อจิตใจของผู้นั้น ยกตัวอย่างเช่น เราคิดจะลักขโมย แต่ก็ยังไม่กล้าลงมือกระทำ ก็ไม่ถือว่ากระทำผิดกติกาสังคม  แต่ผลก็เกิดขึ้นกับเราในทันที คือยิ่งคิดบ่อยก็ยิ่งอยากจะเอามาให้ได้  เมื่อความคิดนั้นมีกำลังมากพอมันก็ผลักดันให้ลงมือกระทำการออกไป  หรือแม้แต่กระทำการออกไปแล้ว ไม่มีใครจับผิดได้ แต่ก็เกิดผลต่อจิตใจเราแล้ว และยิ่งทำให้เราติดใจ คิดว่าถ้าทำอีกก็คงไม่มีใครจับได้ ย่อมคิดจะกระทำการลักขโมยได้ง่ายขึ้น  พอมากเข้าก็กลายเป็นคนมือไว หยิบฉวยของคนอื่นจนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร  หรือบางอย่างกระทำแล้วไม่ได้ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น เช่น การฟังเพลง การไปท่องเที่ยว การสะสมงานศิลปะที่ชอบ การชอบงานสังคม ฯลฯ เหล่านี้ก็ล้วนมีผลต่อการสร้างนิสัยทั้งนั้น 
                        ผลที่เกิดขึ้นทั้งในด้านภายนอกและด้านภายในต่างก็เป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ตัวเอง ถ้ามากเข้าก็กลายเป็นอุปนิสัยหรือความเคยชินติดตัวไป  แต่การกระทำทางกายและทางวาจามีกำลังมากกว่า จึงสามารถส่งผลต่ออุปนิสัยหรือความเคยชินได้มากกว่าการคิดแล้วไม่ได้กระทำ
                        ผลของกรรมเกิดขึ้นเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนากระทำก็ตาม แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้คือมันเป็นเรื่องอจินไตย ยากที่จะคาดการณ์ได้ครบถ้วน

          ไม่ควรกังวลเรื่องกรรมในอดีตจนเกินเหตุ
            คนส่วนใหญ่มักคิดกังวลไปกับเรื่องกรรมที่ตนเองได้กระทำไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นอกุศลกรรม หรือคิดกังวลไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านไปแล้ว  จนไม่มีสติอยู่กับปัจจุบัน ขณะนี้ทำอะไรอยู่เราไม่ได้ใส่ใจหรือตั้งใจมากเท่าที่ควร เราทำปัจจุบันแบบ ขอไปที นั่นหมายถึงว่าผลที่จะตามมาในอนาคตก็เป็นแบบขอไปทีเช่นกัน  เราไม่ควรจะไปกังวลกับเรื่องกรรมมากเกินไป กรรมที่ทำในอดีตเราได้ทำไปแล้ว ผลจะเกิดอย่างไรบ้างก็ช่างมัน เราเปลี่ยนมันไม่ได้  อย่าจะไปจมปรักย้ำคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกรรมอันเก่า  เพราะว่าผลกรรม มันมีความแปรปรวนอย่างมาก  กรรมอันใหม่หรือการกระทำอันใหม่ก็เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่งที่จะทำให้ผลกรรมอันเก่านั้นเกิดความแปรปรวน
            สิ่งที่เราควรใส่ใจคือ วินาทีต่อไปนี้เราควรจะทำกรรมอะไร  ถ้าเราพยายามดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ ๘ เท่านี้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องผลกรรมเลย เพราะทั้งหมดเป็นการกระทำในฝ่ายกุศลอยู่แล้ว  และยิ่งถ้าปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ได้ผลอย่างบริบูรณ์ เรื่องผลกรรมก็จะไม่เป็นปัญหาเลย  แต่ถ้าเราไม่ได้ทำตามมรรคมีองค์ ๘ มันก็มีโอกาสกระทำการในฝ่ายอกุศล ผลกรรมมันก็ย่อมเป็นไปตามเหตุในฝ่ายนั้นๆ

            “พระอรหันต์อยู่เหนือกรรมได้อย่างไร เพราะกรรมทุกอย่างย่อมให้ผล แม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ต้องได้รับผลกรรมที่กระทำไป เพราะเป็นกฎธรรมชาติ เช่น ถ้าเดินไปเหยียบเศษแก้ว ก็ต้องมีเลือดไหล และเกิดความเจ็บปวดด้วย  แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ว่า แม้พระอรหันต์ท่านมีเจ็บปวดก็จริงอยู่ แต่ว่าสภาพจิตใจของท่านไม่เดือนร้อนใจ เพราะท่านหมดความยึดมั่นในกายและใจ หรือรูปชีวิตอันนี้แล้ว  และไม่ว่ากรรมจะให้ผลอย่างไร มันก็ให้ผลได้เฉพาะที่รูปกายเท่านั้น  นี่คือกฎของกรรม  ถ้าไม่มีรูปกายแล้วก็ไม่มีอะไรจะมาเป็นตัวรองรับผลกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น