2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๒ บทสรุป ตอนที่ ๖ "มรรคองค์ ๘"

๓.๖  มรรคมีองค์ ๘


            มรรคมีองค์ ๘ เป็นวิถีทางที่พระพุทธเจ้าค้นพบ แล้วแนะนำให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพตนเองใน ๘ ประการ  ซึ่งตามปกติมนุษย์ทุกคนก็มีคุณสมบัติ ๘ อย่างนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้พัฒนาให้มันมีศักยภาพสูงขึ้นไปในทิศทางที่ ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตก็มีสภาพเป็นนิพพาน หรือหมดอัตตา  อันเป็นวิธีการแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะพ้นจาก สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา   
            คุณสมบัติ ๘ อย่าง ที่มนุษย์จะต้องพัฒนาให้เป็นไป หรือใช้ไปในทางที่ ถูกต้อง ได้แก่
                        ๑.) ความเห็น หรือทัศนะ
                        ๒.) ความดำริ หรือความคิด
                        ๓.) การพูดจา 
                        ๔.) การกระทำทางกาย 
                        ๕.) การเลี้ยงชีพ   
                        ๖.) ความเพียร   
                        ๗.) การมีสติ
                        ๘.) ความตั้งใจมั่น


วัตถุประสงค์ของการศึกษาปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ก็เพื่อ
๑.  เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วชีวิตของเราประกอบด้วยรูปและนาม
๒.  เพื่อให้เข้าใจว่ารูปและนามนี้ทำหน้าที่ของมันอย่างบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ
๓.  เพื่อให้ถอนความยึดมั่น(อุปาทาน)ในรูปนามอันนี้ 
เมื่อปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ไปแล้ว แม้จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ในหลายด้าน
แต่ถ้าหากยังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ข้างต้น
ก็แสดงว่า "ยังปฏิบัติไม่ถูกไม่ตรง"  หรืออาจจะปฏิบัติถูกต้องแต่ "กำลังยังไม่มากพอ"



            ๓.๖.๑  สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) 
                    ความเห็นในที่นี้ เน้นว่ากันในด้านความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง รูปนาม” 
                    “ความเห็นที่ถูกต้อง  คือ มีความเห็นว่า รูป และนาม (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีสภาพอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  พูดอีกอย่างก็คือ ตามกฎของธรรมชาติ หรือความเป็นจริง ชีวิตอันประกอบด้วยกายและใจนี้มีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  แต่ตอนนี้เรามีความเห็นที่ผิด เราคิดว่ามันเป็นอัตตา คือเห็นว่ามันเป็นตัวตนเราแท้ๆ  ทำให้มีความยึดมั่น (อุปาทาน) ในรูปนาม หรือขันธ์ห้า หรือชีวิตอันนี้ อย่างเหนียวแน่น
            บทวิเคราะห์
                        ถ้าหากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรูปนามได้อย่างถูกต้องชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะหมดความหลงผิดที่คิดว่าชีวิตนี้เป็นตัวตนแท้ๆ ของเรา  สภาพความเป็นอัตตาก็หมดไป หรือหมดความยึดมั่นในรูปนามอันนี้ หรือขันธ์ห้าอันนี้ หรือชีวิตอันนี้ 
                        ส่วนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ นั้น ก็จะถูกพัฒนาไปในทางที่เห็นถูกต้องตรงกับความจริงตามไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎของกรรม  เรื่องภพชาติหรือการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น
                        สัมมาทิฏฐิ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้หรือปัญญา เราสามารถพัฒนาได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้  ซึ่งในเบื้องต้นก็ทำได้โดยการอ่าน ฟัง และขบคิด เกี่ยวกับรูปนาม หรือขันธ์ห้า  แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องอาศัยการปฏิบัติตามมรรคข้ออื่นๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้เราได้เห็น ได้สังเกต ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปนามในสภาพจริงๆ ที่มันเป็นอยู่ในธรรมชาติขณะนี้  ซึ่งเป็นการศึกษาในขั้นที่เหนือกว่าการอ่าน ฟัง หรือขบคิด  จนกว่าจะมีความรู้อย่างแจ่มแจ้ง แล้วก็หมดความเป็นอัตตาในที่สุด (ถ้าความเป็นอัตตาในรูปนามของเรายังไม่ถูกทำลาย แสดงว่ายังไม่มีความรู้อย่างแจ่มแจ้ง)

            ๓.๖.๒  สัมมาสังกัปปะ (ความดำริอันชอบ) 
                    ดำริ หมายถึง คิด   ความดำริ ก็คือ การคิดไปในทางนั้น
                    ความดำริอันชอบ ก็คือ การคิดไปทางอันชอบ ซึ่งมีหลัก ๓ ประการ ได้แก่  
                          ๑.) คิดที่จะออกจากกาม (คำว่า กาม ในทางพุทธศาสนา หมายถึง  รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัสทางกาย  ซึ่งเราเสพกามนี้โดยอาศัยร่างกาย คือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  ผิวกาย)
                          ๒.) ไม่คิดพยาบาทใคร (แก้แค้น จองเวร) 
                          ๓.) ไม่คิดเบียดเบียนใคร (ทำความเดือนร้อนให้แก่ผู้อื่น แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำร้ายเรา)
            บทวิเคราะห์
                        มรรคข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความคิด  ปกติแล้วทุกคนมีความคิด หรือมีการคิด  บางเรื่องเราก็ได้แค่คิด แต่ไม่ได้ทำ นั่นเป็นเพราะว่ากำลังความคิดมันมีไม่มากพอที่ผลักดันให้เราทำหรือแสดงออกมาภายนอก  แต่บางเรื่องที่เราคิดแล้วความคิดนั้นมีกำลังมากพอ มันก็ผลักดันให้เราได้ทำตามความคิดนั้น
                        ยกตัวอย่างเช่น เรามีความคิดว่า การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราก็ยังงดเว้นไม่ได้ อย่างพอมียุงมากัดเรา เราก็ตบมันทุกที (แก้แค้นยุง) พอตบมันแล้วเราก็สำนึกได้หรือมีสติระลึกได้ (เกิดความคิดในเรื่องเดิม) ว่า การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ดี  ทีนี้เมื่อเราตบยุงทุกครั้ง เราก็เกิดความคิดในเรื่องเดิมอย่างนี้ทุกครั้ง ความคิดมันก็ค่อยๆ กำลังมากขึ้น  จนมันมีกำลังมากพอมันก็ผลักดันออกมาที่พฤติกรรม นั่นคือ เราก็เลิกตบยุง หรืองดเว้นการฆ่าสัตว์
                        การคิดไปในทางอันชอบ ทั้ง ๓ ประการ นี้ก็เป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตใน ระดับความคิด  ถ้าหากความคิดใน ๓ ด้านนี้มีกำลังมาก ก็จะผลักดันให้ปฏิบัติตามมรรคข้ออื่นๆ ได้มีประสิทธิภาพมากด้วย ความคิดมุ่งไปทางไหน การกระทำก็มุ่งไปทางนั้น   
                        สัมมาสังกัปปะ พัฒนาได้โดยการหมั่นคิดบ่อยๆ ใคร่ครวญบ่อยในชีวิตประจำวัน  และควรจะหาเวลาตั้งใจนั่งคิดทบทวนเหตุผลอย่างจริงๆ จังๆ ในเรื่อง ๓ ประการดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่องนานๆ (หาที่เงียบๆ และอาศัยกำลังสมาธิช่วยในขณะกำลังคิด)   สำหรับการอ่านและฟังผู้อื่นเป็นเบื้องต้นก็จำเป็น  เพราะถ้าเราไม่มีความรู้เบื้องต้นก่อน เราอาจก็คิดต่อไปไม่ได้มาก   

            ๓.๖.๓  สัมมาวาจา (การพูดจาอันชอบ)
                    คำว่า การพูด ในที่นี้หมายรวมไปถึง การเขียน ด้วยก็ได้ แม้ว่าการเขียนจะเป็นการกระทำทางกาย แต่ก็มุ่งหมายใช้สื่อสารแทนการพูด 
                        การพูดจาอันชอบ มีหลัก ๔ ประการ ได้แก่
                             ๑.) เจตนาเว้นจากการ พูดเท็จ (โกหก)
                             ๒.) เจตนาเว้นจากการ พูดส่อเสียด (ยุยงให้แตกแยก หรือว่าร้ายผู้อื่น)
                             ๓.) เจตนาเว้นจากการ พูดคำหยาบคาย (ด่าทอ สาปแช่ง หรือสบถคำหยาบ) 
                             ๔.) เจตนาเว้นจากการ พูดเพ้อเจ้อ (พูดมาก หรือพล่ามในเรื่องไร้สาระ ไม่รู้จักจบ) 

            ๓.๖.๔  สัมมากัมมันตะ (การกระทำทางกายอันชอบ)
                    การกระทำทางกายอันชอบ มีหลัก ๔ ประการ ได้แก่
                             ๑.) เจตนาเว้นจากการ ฆ่า (หมายรวมถึงการสั่งเขาฆ่า)
                             ๒.) เจตนาเว้นจากการ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ (ลักขโมย คดโกง)
                             ๓.) เจตนาเว้นจากการ ประพฤติผิดในกาม (ลวนลาม ล่วงเกินทางเพศ ในผู้ที่เขามีเจ้าของ เช่น บุตร ภรรยา สามี หรือคู่รัก ของผู้อื่น)  

            ๓.๖.๕  สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพด้วยวิธีอันชอบ)  
                        การเลี้ยงชีพด้วยวิธีอันชอบ หมายถึง การเลี้ยงชีพด้วยวิธีสุจริต หรืองดเว้นการเลี้ยงชีพด้วยวิธีทุจริต อันที่จริงข้อนี้ก็มีความหมายเกี่ยวข้องกับสัมมากัมมันตะ และสัมมาวาจา แต่จุดที่เน้นก็คือ แม้ว่ามีความจำเป็นจะต้องเลี้ยงชีพให้รอดพ้นจากความตาย แต่ก็ต้องงดเว้นการทำทุจริตทางกายและวาจา 
                        และควรงดเว้น มิจฉาวณิชชาคือการค้าขายสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง  ได้แก่
                                    ๑.) ไม่ควรค้าขาย เครื่องประหาร (ให้เขานำไปฆ่าหรือดักสัตว์)
                                    ๒.) ไม่ควรค้าขาย มนุษย์ (ให้ไปเป็นทาส หรือโสเภณี)
                                    ๓.) ไม่ควรค้าขาย สัตว์เป็น (ให้เขาเอาไปฆ่า)
                                    ๔.) ไม่ควรค้าขาย น้ำเมา
                                    ๕.) ไม่ควรค้าขาย ยาพิษ
            บทวิเคราะห์
                        ทั้ง สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นเรื่องของการแสดงออกภายนอก หรืออาจเรียกรวมๆ กันว่า ศีล  ในชีวิตประจำวันเราไม่สามารถจะหลบไปอ่านหนังสือ ฟังเทศน์ กำหนดเจริญสติปัฏฐานสี่ หรือนั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นได้ตลอดเวลา เราต้องมีโอกาสได้พบปะกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จึงทำให้มีปฏิสัมพันธ์กันเกิดขึ้น  มรรคทั้ง ๓ ข้อ หรือศีลนี้จึงเป็นวิธีปฏิบัติตนเมื่อเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้น
                        การกระทำทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะถูกความคิดผลักดัน  การดำเนินชีวิตโดยมีเจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น มันแสดงให้เห็นถึงสภาพความมีอัตตา คือแสดงว่าเรามีความยึดมั่นในรูปชีวิตอันนี้ ด้วยหลงคิดว่ามันเป็นตัวตนของเรา เรา จึงรัก จึงหวงแหน เราจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการเอามาเป็นของเรา และรักษาตัวเราให้รอดปลอดภัยอยู่เสมอ แม้ว่าจะต้องเบียดเบียนทำร้ายคนอื่น เราก็จะทำ 
                        การปฏิบัติตนตามมรรค ๓ ข้อ นี้ ก็ เป็นการทำลายอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวให้ค่อยๆ ลดน้อยลง และเป็นการเอื้อเฟื้อให้เราสามารถปฏิบัติตนในมรรคข้ออื่นๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ถูกรบกวนโดยผู้อื่น ไม่เกิดความวิตกกังวลขึ้นภายในตัวเอง และยังเป็นการพัฒนาสัมมาสติให้ว่องไวด้วย เพราะว่าก่อนที่เราจะงดเว้นการผิดศีล ต้องเกิดความคิดระลึกขึ้นได้ก่อน (สัมมาสติ)  จากนั้นเราจึงยับยั้งหรืองดเว้นการกระทำนั้น  ถ้าหากมีสัมมาสติที่ว่องไว ก็จะสามารถงดเว้นการผิดศีลได้บ่อยขึ้น จน กลายเป็นเรื่องปกติที่จะงดเว้นการกระทำทางกายและวาจาอันทุจริต  หรือมองในแง่การประเมินผลการปฏิบัติตามองค์มรรคต่างๆ ถ้ายังไม่สามารถงดเว้นตามศีลเหล่านี้ได้ก็ แสดงว่าการปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพ
            ๓.๖.๖  สัมมาวายามะ (ความเพียรในกิจอันชอบ)  
                        ความเพียร ก็คือ ขยัน  บ่อยๆ  สม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง 
                    “ความเพียรในกิจอันชอบ นั้นหมายถึง การปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ ๘ ด้วยความขยัน  บ่อยๆ  สม่ำเสมอ  และต่อเนื่อง
          บทวิเคราะห์
                        การงานใดใดก็จำเป็นต้องอาศัยความเพียรเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น  ถ้ามีความเพียรมาก การงานนั้นก็จะถูกทำให้เสร็จได้โดยเร็ว ซึ่งตามปกติทุกคนต้องใช้ความเพียรในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่ามีการใช้ความเพียรไปเรื่องใด  สำหรับในทีนี้หมายถึงว่า ให้ใช้ความเพียรในการปฏิบัติตนตามมรรคข้ออื่นๆ เพื่อให้สำเร็จผลได้โดยเร็ว

            ๓.๖.๗  สัมมาสติ (การมีสติอันชอบ)
                        คำว่า สติ แปลว่า ระลึกรู้ 
                        สำหรับ การมีสติอันชอบ นั้นหมายถึง การมีสติ หรือการระลึกรู้ไปใน ๔ อย่าง คือมีสติไปใน กาย เวทนา จิต ธรรม จึงเรียกอีกอย่างว่า สติปัฏฐานสี่
          บทวิเคราะห์
                        เมื่อพัฒนาให้มีสติหรือระลึกรู้ไปในกาย (หรือเวทนา จิต ธรรม) อย่างชำนาญ จนมีสติที่ว่องไว ก็จะทำให้สามารถเห็นการปรากฏการณ์การเกิด-ดับของรูปนามได้อย่างทันท่วงที จนยอมรับอย่างถ่องแท้ว่ามันแปรปรวนตามเหตุปัจจัยต่างๆ  ไม่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นตัวเราจริงๆ หรือเป็นของเราจริงๆ ก็จะทำลายความเห็นผิดที่เคยคิดว่ามีอัตตา 
                        เราสามารถเลือกปฏิบัติโดยการกำหนดให้มีสติไปในอย่างใดอย่างหนึ่งเลยก็ได้ อันนี้ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละคน  แต่อย่างไรก็ดี ขอแนะนำว่า สำหรับผู้เริ่มต้นใหม่นั้น ควรเริ่มกำหนดให้มีสติไปในกาย (หรือเวทนา ก็ได้) เป็นเบื้องต้นก่อน เพราะว่าทำได้ง่ายกว่า  จากนั้นเมื่อสติมีความว่องไวมากขึ้นแล้ว มันจะเป็นเหตุให้สามารถมีสติไปในจิต และธรรม ได้อย่างชัดเจน  แต่ส่วนใหญ่มักจะโลภมากเกินกำลังของตน จึงข้ามไปเริ่มต้นที่การมีสติไปในจิต และธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นการเกิด-ดับของทั้งสองสิ่งนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมันเกิด-ดับไวกว่ากายและเวทนา (อ่านเพิ่มเติมในคำสอนจากพระโอษฐ์ เรื่องวิธีการปฏิบัติแบบเป็นลำดับขั้น)

          ๓.๖.๘  สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นในทางที่ถูกต้อง)       
                        สมาธิเป็นสภาพที่ฝ่ายจิตมีความตั้งมั่นในกับอะไรบางสิ่งอย่างต่อเนื่อง หรือพูดอีกอย่างก็คืออาการเพ่ง หรือตรึก หรือจดจ่อ อยู่กับอะไรบางสิ่ง  ถ้าตั้งมั่นอย่างต่อเนื่องได้นานก็เรียกว่ามีกำลังสมาธิมาก 
                        สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากำลังแห่งสมาธิ เรียกว่า นิวรณ์ ๕  ถ้าหากขณะใดจิตมีสภาพอาการอย่างนี้ กำลังของสมาธิก็เสื่อมถอย  นิวรณ์ ๕ ก็ได้แก่  
                                    กามฉันทะ (พอใจในรสชาติของกาม) 
                                    พยาบาท (ขุ่นเคือง เดือดร้อน ปองร้าย)
                                    วิจิกิจฉา (ลังเล สงสัย)
                                    ถีนมิทธะ (ง่วงเหงา ซบเซา หดหู่ ท้อแท้)
                                    อุททัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่าน รำคาญ ไม่สบอารมณ์)
                    “สมาธิอันชอบ นั้นหมายถึง มีความตั้งใจมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของตน โดยเอากำลังสมาธิที่มีไปใช้ประกอบกับมรรคข้ออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทำงานร่วมกับสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
                    บทวิเคราะห์
                        มนุษย์ทั่วไปก็มีกำลังสมาธิอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ศักยภาพแตกต่างกันไปในแต่ละคน  แต่ประเด็นสำคัญคือ เราไม่ได้ใช้กำลังสมาธิที่มีไปในการปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ ๘  ฉะนั้น การพัฒนากำลังสมาธิโดยทั่วๆ ไปจึง ไม่ใช่สมาธิอันชอบ หรือเรียกว่า "มิจฉาสมาธิ" จุดที่ต้องเน้นย้ำให้ชัดเจน คือ กำลังสมาธิจะต้องถูกใช้สนับสนุนประโยชน์ในการศึกษาเรื่องรูปนาม ไม่ใช่เพื่อการอื่น จึงจะเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ  เพราะการที่จะสังเกตเห็นสภาพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของรูปนามได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องนั้นต้องอาศัยกำลังสมาธิ (จะใช้มากหรือน้อยแล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน) เมื่อได้สังเกตและศึกษาเห็นสภาพรูปนามตามความเป็นจริงของมันแล้ว ก็จะเกิดความความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เห็นว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตนของเรา ความยึดมั่น (อุปาทาน) ในรูปนาม หรือความเป็นอัตตาก็หายไป
            ในส่วนของการปฏิบัติตนตามมรรคข้อ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ถ้าเปรียบเหมือนวิทยายุทธ์ก็จัดว่าเป็น กระบวนท่ายาก ดังนั้น การที่จะปฏิบัติให้ได้รวดเร็วและถูกต้องก็จำเป็นต้องอาศัยผู้แนะนำในขั้น ละเอียด ดังนั้น การปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ ๘ โดยทั่วไป จึงมักอยู่ที่การพัฒนาในข้อสัมมาทิฏฐิโดยการอ่านตำรา ฟังเทศน์ สนทนาธรรม หรือข้อสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีพ  หรือข้อสัมมาสังกัปปะ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะง่ายกว่า

บทสรุปในเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็คือ
           ๑.)  ในเบื้องต้นสามารถเน้นปฏิบัติที่ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เพราะปฏิบัติตามมรรคเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะทำให้มรรคข้ออื่นๆ ได้ รับการพัฒนาตามไปด้วย  ซึ่งก็แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน  ทั้งนี้ถ้าหากปฏิบัติได้ตรงและถูกต้องอย่างละเอียดแล้ว ก็ได้จะปรากฏผลอย่างชัดเจน
               "ผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องรูปนามอย่างถูกต้อง" เพราะได้เห็นรูปนามตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงในธรรมชาติ และเริ่มเกิดความเบื่อหน่ายว่า รูปนามนี้ไม่ได้เป็นตัวตน (อัตตา) ของเราจริงๆ และไม่ได้ของใครจริงๆ  เป็นเพียงแค่สิ่งที่ดำเนินอยู่ตามธรรมชาติ  จากนั้นเราก็จะคลายความยึดมั่นในรูปนามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำลายความยึดมั่นในรูปนามจนหมด เกิดสภาพที่เป็นอนัตตาอย่างถาวร (นิพพาน)
            ๒.)   ปฏิบัติตรง หรือปฏิบัติถูกต้อง หมายถึง การปฏิบัติให้ผสมผสานกันอย่างลงตัวทั้ง ๘ ประการ และมีประสิทธิภาพในทุกข้อ   ฉะนั้น ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติเป็นระยะๆ ว่าเกิดผลอย่างไร  ก้าวหน้าหรือไม่  โดยสังเกตจากผลที่ปรากฏกับตนเอง  หากไม่ได้ผลชัดเจนก็ต้องปรับความสมดุลของการปฏิบัติให้ถูกต้อง (ในรายละเอียดควรปรึกษาผู้รู้)
            ๓.)  ถึงแม้ว่าการปฏิบัติตามมรรคเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะทำให้มรรคข้ออื่นๆ ได้รับการพัฒนาตามไปด้วย  แต่ถ้าหากปฏิบัติในลักษณะแบบ ลูบคลำ คือปฏิบัติแบบแยกเป็นข้อๆ ไปอย่างผิวเผิน โดยไม่เข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้ ก็ไม่อาจผสมผสานมรรคทั้ง ๘ ประการ ให้ลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกันได้  จึงทำให้ยังไม่ก่อให้เกิดผลอย่างเต็มที่ (แต่ในขั้นต้นก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติแบบลูบคลำไปก่อน แล้วจึงค่อยๆ ประเมินผล และปรับปรุงประสิทธิภาพของการปฏิบัติต่อไป)
            ๔.) โดยทั่วไป การมีผู้แนะนำในระละเอียดการปฏิบัติจะ ช่วยได้มาก  ดีกว่าตั้งต้นด้วยการลองผิดลองถูก เพราะจะทำให้เสียเวลา เสียกำลังใจ  และถ้าหากกำลังศรัทธาไม่มากพอ ก็จะเกิดความท้อถอย แล้วก็อาจจะเลิกล้มไป  เปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า โดยทั่วไปเด็กมีสมาธิ(ความตั้งใจมั่น)สั้นกว่าผู้ใหญ่ จะให้เขาสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ คงยาก (เป็นไปตามกฎของเหตุผล)  พอจะให้เด็กอนุบาลมาฝึกแก้สมการคณิตศาสตร์เลยมันก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย (ยากก็ยาก และไม่รู้จะว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร)  แต่ถ้าเริ่มฝึกจากการบวกลบคูณหาร หรือให้ท่องจำสูตรคูณก็พอจะทำได้

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากๆ เลยครับมีประโยชน์สูงสุด
    ชอบแผนภาพมากๆครับ

    ตอบลบ