2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๑ บทสรุป ตอนที่ ๕ "ชีวิตที่เราเป็นอยู่นี้มีสภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา หรือไม่"

๓.๕  ชีวิตที่เราเป็นอยู่นี้ มีสภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา หรือไม่
         
          หลายคนคิดว่าชีวิตของเราก็ไม่เห็นว่ามันจะรู้สึกเป็นทุกข์ หรือมีปัญหาอะไร  นั่นคือคนมองโลกด้วยสติปัญญาแบบหยาบๆ กว้างๆ  ก็เหมือนกับไปถามคนชอบอาการเมายา (หรือชอบอาการเมาเหล้า) ซึ่งในขณะนั้นสติปัญญาเขาไม่บริบูรณ์  หรือเขากำลังเหมือนอยู่ในโลกความฝันที่เขาคิดปรุงแต่งหลอกลวงตัวเอง  เขาก็จะบอกว่าสภาพของเขาตอนนี้มันมีความสุขดี  ไม่เห็นจะเดือดร้อนใจอะไรเลย  นี่แหละคือความคิดความเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละคน
          อย่างไรก็ตาม ก็สามารถมองอีกแง่หนึ่งได้ คือ คนเมายา เขาก็มีความสุขหรือพอใจในสภาพที่เขาเป็นอยู่นั้น เพราะเขาไม่ต้องรับรู้เรื่องราวหรือปัญหาอะไร  แต่สภาพอาการเมายานั้นมันก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดกาล  เมื่อยาหมดฤทธิ์เขาก็ต้องกลับมาเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ตามเดิมเหมือนคนปกติ  เมื่อนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์ เดือดร้อนใจ ก็มีจังหวะได้ปรากฏขึ้นแก่เขา
          ทีนี้สำหรับคนทั่วไปที่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขดีกับชีวิตในปัจจุบัน มันก็มีอาการคล้ายกับอย่างนั้น คือความสุขนี้มันก็ไม่ได้คงอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ เมื่อร่างกายแก่ชรา  เมื่อเกิดการเจ็บป่วย  เมื่อเกิดความผิดหวัง  เมื่อเกิดความพลัดพรากหรือสูญเสีย  และเมื่อความตายมาใกล้จะถึงตัว  ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เรียกว่า ทุกข์ (ทุกขสัจจะ)  ทีนี้ลองพิจารณาอย่างถ้วนถี่สิว่า ถ้าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจะรู้สึกอย่างไร (คำตอบแบบคาดเดาในตอนนี้ อาจไม่สอดคล้องกับคำตอบเวลาที่สถานการณ์นั้นเกิดขึ้นกับเราจริงๆ)   
          แต่ไม่ว่าใครจะตอบอย่างไรก็ช่าง  สิ่งที่พบก็คือ คนทั่วไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยตนเอง  มักจะเกิดรู้สึกเดือดร้อนใจขึ้นมา (ไม่มากก็น้อย)  นั่นคือได้เกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา  ที่มันเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า มีตัวเรา เป็นผู้อยากให้อะไรๆ เป็นไปดั่งใจเรา แต่ว่ามันก็ไม่เป็นไปตามนั้นเสียทุกเรื่อง   
          ถ้าจะอ้างอิงเปรียบเทียบกับประวัติสมัยพุทธกาล เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นถึงโอรสของกษัตริย์ (ตลอดจนท่านที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และบุตรเศรษฐี) ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแต่เพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง  แต่ท่านก็ยังบอกว่าเกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา  เพราะถ้าไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา ท่านเหล่านั้นก็จะไม่หาทางแก้  ทีนี้ถ้าเรายังไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็คือ ตอนนี้เรากำลังคิดสวนทางกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก  เราก็เลยยังไม่สนใจที่จะศึกษาหลักการที่ท่านสอนไว้เพื่อแก้ปัญหา
          แต่ถ้าเรายอมรับว่า เราเกิด สภาพทุกข์ที่ตัวเราบอกว่าเป็นปัญหา  เราก็จะเห็นคุณค่าของสัจธรรมข้อ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนไว้ คือ มรรคมีองค์ ๘  เราจึงเริ่มจะหันมาดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติตนไปตามแนวทางนั้นอย่างจริงจังมากขึ้น  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น