2 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๓๗ บทสรุป ตอนที่ ๑ "ชีวิตเราประกอบด้วยอะไร"

 
๓.๑  ชีวิต ประกอบด้วยอะไร


               คำว่า ชีวิต ในที่นี้เน้นไปที่ชีวิตของสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์  ถ้าว่ากันแบบกว้างๆ ชีวิตประกอบด้วย ๒ ฝ่าย คือ ร่างกาย และจิตใจ  แต่ถ้าจะแยกย่อยลงไปอีก ก็จำแนกได้เป็น ๕ ส่วน ได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  คำศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ขันธ์ห้า  หรือ รูปนาม
               ฝ่ายรูป (ร่างกาย)  มี ๑ ส่วน คือ  รูป
               ฝ่ายนาม (จิตใจ)  ประกอบด้วย ๔ ส่วน ได้แก่  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ


            ๓.๑.๑  ฝ่ายรูป  (ร่างกาย) 
               หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของรูปนั้น ประกอบด้วย ธาตุ ๔ อย่าง ได้แก่  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม  ในคำอธิบายทางพุทธศาสนาธาตุทั้ง ๔ อย่าง นี้ถูกจำกัดความหมายโดยคุณสมบัติเฉพาะตัวของแต่ละธาตุ กล่าวคือ
                                             ธาตุดิน  หมายถึง  สภาพที่มีความแข็ง-อ่อน
                                             ธาตุน้ำ  หมายถึง  สภาพที่ที่มีความเกาะกุม-คลายตัว
                                             ธาตุไฟ  หมายถึง  สภาพที่ที่มีอุณหภูมิสูง-ต่ำ
                                             ธาตุลม  หมายถึง  สภาพที่ที่มีความไหว(ขยับ)-นิ่ง
               ธาตุทั้ง ๔ อย่าง นี้ไม่แยกจากกัน  แต่ในรูปๆ หนึ่งจะมีสัดส่วนของแต่ละธาตุมากน้อยต่างกัน  ยกตัวอย่าง เช่น น้ำหนึ่งหยด ไม่ได้มีแค่ธาตุน้ำเพียงอย่างเดียว  แต่มันมีธาตุทั้ง ๔ อย่าง รวมกันอยู่ในหยดน้ำนั้น  หยดน้ำมีความแข็ง-อ่อน  มีการเกาะกุม มีอุณหภูมิ และภายในหยดน้ำนั้นมันก็มีการไหวติง-นิ่ง
               สัดส่วนของแต่ละธาตุอยู่ในรูปนั้นจะมีความแปรปรวนในเชิงปริมาณโดยขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย (Factors)  ซึ่งเหตุปัจจัยต่างๆ ก็มีการแปรปรวนเช่นกัน  ยกตัวอย่าง เช่น  น้ำหนึ่งหยด เมื่อเกิดเหตุปัจจัยที่มีกระทบต่อหยดน้ำ หยดน้ำนั้นก็จะไม่อยู่ในสภาพเดิม  เช่น  มีแสงแดดมากระทบ  มีลมพัด  มีวัตถุมากระทบ ฯลฯ  หยดน้ำนั้นก็มีการเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนสภาพไปได้  แต่สภาพใหม่ที่เกิดขึ้นจากหยดน้ำนั้น (รูป) ก็ยังมีธาตุทั้งสี่เป็นองค์ประกอบเสมอ เพียงแต่มีสัดส่วนของแต่ละธาตุในปริมาณที่ต่างไปจากเดิม เช่น ถ้าหยดน้ำนั้นได้รับความร้อน ก็จะมีธาตุไฟมากขึ้น การเกาะกุม(ธาตุน้ำ)ลดลง  ความแข็ง(ธาตุดิน)ลดลง  มีการไหวตัว(ธาตุลม)มากขึ้น  สภาพที่เราเห็นได้ด้วยตาก็คือหยดน้ำนั้นก็เปลี่ยนรูปร่างไป กลายเป็นไอ แล้วในที่สุดเราก็มองไม่มันเห็นด้วยตา  แต่ธาตุทั้งสี่นั้นไม่ได้สูญหายไป เพียงแต่เปลี่ยนไปสภาพ(รูป)ใหม่เท่านั้นเอง
               สิ่งที่พุทธศาสนาจัดว่าเป็น รูปนั้นไม่ใช่มีแค่รูปร่างกายหรือวัตถุที่เห็นด้วยตาเท่านั้น  แต่หมายรวมไปถึง ทุกสิ่งที่ไม่ใช่นามเช่น  แสง รังสี  เสียง  แรงดูด-ผลัก  พลังงาน  คลื่นวิทยุ  คลื่นแม่เหล็ก  ฯลฯ  แม้สิ่งเหล่านี้บางส่วนจะไม่สามารถรับสัมผัสได้ด้วยอวัยวะของร่างกายมนุษย์  แต่มันก็มีอยู่จริงในธรรมชาติ  หลายสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแต่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ หรือยังพิสูจน์ให้ยอมรับด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้  เช่น  การมีอยู่ของสัตว์หรือพืชบางชนิด เดิมมันมีอยู่แล้ว บางคนก็เคยเห็นมันแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เห็นมัน กระแสความเชื่อคนส่วนใหญ่จึงยังไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่ามันมีอยู่  หรือแม้กระทั่ง การมีอยู่ของวัตถุ เช่น คลื่นวิทยุ อันนี้ก็มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ แต่มันเป็นสิ่งที่ยอมรับว่ามันมีจริงก็เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ประเด็นสำคัญคือสิ่งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีจริง

            ๓.๑.๒  ฝ่ายนาม  (จิตใจ)
               นาม หรือ จิตใจ มี ๔ ส่วน ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  แต่ละส่วนก็ถูกจำกัดความหมายโดยหน้าที่เช่นเดียวกัน กล่าวคือ
                                             เวทนา  มีหน้าที่  รับสัมผัส (รสชาติหรืออารมณ์)
                                             สัญญา  มีหน้าที่  จดจำ
                                             สังขาร  มีหน้าที่  คิดปรุงแต่งเรื่องราว
                                             วิญญาณ  มีหน้าที่  รู้
               ยกตัวอย่าง เช่น เราจับเอามือจับถ่านไฟ  เราก็เกิด รู้ ทันทีว่าเราได้แตะสิ่งหนึ่ง  และเราก็ รับสัมผัส ความร้อนของไฟได้ทันที  และเราก็ จดจำ รสสัมผัสนั้นโดยทันที  และเราก็ คิดปรุงแต่งเรื่องราว ขึ้นทันที เช่น คิดว่ามันร้อนมือมาก เราต้องปล่อยมือจากถ่านไฟ ต้องบำบัดอาการที่เกิดขึ้นโดยการสะบัดมือ ลูบคลำ ร้องตะโกนออกมา หายาใส่แผล หรือไปหาหมอ ต่อไปเราจะระวังไม่ให้แตะถ่านไฟอีก ตลอดจนเขี่ยถ่านไฟไปที่อื่น หรือหาทางดับมัน เพื่อจะได้ไม่ให้คนอื่นมาจับถ่านไฟก้อนนั้นอีก ฯลฯ
               นั่นคือกระบวนการทำงานฝ่ายนามทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันรวดเร็ว จนคนทั่วไปไม่อาจสังเกตตามได้ทัน (จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีสติที่ฉับไว) จากกระบวนการทำงานของฝ่ายนาม จะเห็นว่านามทั้ง ๔ ส่วน นี้จะอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่ได้แยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยว เรียกว่าทำหน้าที่พร้อมกันโดยอัตโนมัติ ไม่มีลำดับก่อน-หลัง 
               แต่ฝ่ายนามหรือจิตนี้ก็ทำงานได้ ครั้งละหนึ่งเรื่อง เท่านั้น  ดังนั้น ฝ่ายนามนี้จึงมีความแปรปรวนเช่นเดียวกันกับรูป  โดยอาจเกิดจากการที่มีเหตุปัจจัยมากระทบที่รูป แล้วฝ่ายจิตก็รับรู้ ปรุงแต่งให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา บางเรื่องก็เก็บอยู่ในใจ แต่บางเรื่องก็ผลักดันให้มีการกระทำทางกายเกิดขึ้น  หรืออาจจะไม่มีอะไรมากระทบที่รูปเลย แต่ว่าเป็นฝ่ายจิตเองทำการคิดปรุงแต่งขึ้นมาเอง (ธัมมารมณ์) โดยอาศัยการนำเอาความจำเก่าๆ มาคิดทบทวน  อย่างไรก็ตาม ล้วนตั้งอยู่บนกฎธรรมชาติที่ว่า จบเรื่องหนึ่ง แล้วจึงเริ่มเรื่องใหม่ (แต่ก็ย้อนกลับมาเรื่องเก่าได้อีก)

            ๓.๑.๓  ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายรูป (ร่างกาย) และฝ่ายนาม (จิตใจ)
               คำศัพท์ที่ว่า รูปนาม เป็นคำๆ เดียว เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นมาเป็น ชีวิต นั่นหมายความว่ารูปและนามนั้นจะต้องอยู่ด้วยกัน  ฝ่ายนามต้องอาศัยฝ่ายรูปในการแสดงออกหรือจอแสดงผลให้ทราบว่ามีฝ่ายนามอยู่ในรูปชีวิตนั้น 
               ในกรณีที่คนยังมีชีวิตอยู่นั้น โดยปกติฝ่ายนามจะมีอิทธิพลต่อฝ่ายรูป คือสามารถผลักดันให้ฝ่ายรูปมีการขยับเคลื่อนไหว  ก่อนที่รูปจะมีการเคลื่อนไหว ต้องมีการฝ่ายนามบงการก่อน (ยกเว้น เกิดจากเหตุปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายนามบงการ)  อย่างกรณีที่ เราจับถ่านไฟ แล้วเราก็ปล่อยทิ้ง สะบัดมือ ลูบคลำ เดินไปหยิบยามาใส่แผล เขี่ยถ่านไฟทิ้งไป หรือดับไฟ  ตลอดจนอ้าปากร้องตะโกนออกมา เหล่านี้ล้วนแต่ถูกผลักดันโดยฝ่ายนาม ทำให้ฝ่ายรูปมีการขยับเคลื่อนไหว
               กรณีที่คนนอนหลับ ถ้าหากหลับสนิทจริงๆ จะไม่มีการขยับเคลื่อนไหว ศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ภวังค์  แต่ถ้าหากขณะนอนหลับแต่มีการเคลื่อนไหว (หรือขยับปากเปล่งเสียง) แสดงว่าขณะนั้นไม่ได้หลับสนิท  อาจจะกำลังฝัน หรือรับรู้สิ่งที่มากระทบร่างกาย เช่น รู้สึกที่กาย หรือได้ยินเสียง หรือได้กลิ่น ฯลฯ นั่นคือฝ่ายจิตได้เริ่มกระบวนการทำงาน จากนั้นฝ่ายจิตก็ผลักดันให้เกิดปฏิกิริยาที่รูป
               ฝ่ายจิตนั้นอิทธิพลต่อฝ่ายรูปในระดับเซลล์ด้วย พูดอีกอย่างก็คือมีอิทธิพลต่อการแปรปรวนของธาตุทั้งสี่  ยกตัวอย่างเช่น กรณีคนที่มีสภาพจิตตึงเครียดก็จะมีผลต่อความดันโลหิต(ฝ่ายรูป)  ถ้ามีมากๆ ก็แสดงให้เห็นออกมาทางผิวหนังได้ นั่นคือเซลล์ร่างกายมีการแปรปรวนเพราะอิทธิพลของฝ่ายจิต
               และกรณีที่ฝ่ายรูปมีการกระทบกับเหตุปัจจัย โดยผ่านทาง ตา หู  จมูก ลิ้น กาย(ผิวกายหรือเนื้อในกาย) เมื่อฝ่ายจิตรับรู้ ก็แสดงว่ากระบวนการทำงานฝ่ายจิตทั้ง ๔ ส่วน (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ได้เกิดขึ้นพร้อมกันโดยทันที  สภาพฝ่ายจิตก็แปรปรวน  แล้วก็จะผลักดันให้ฝ่ายรูปแสดงอาการโต้ตอบ (โต้ตอบโดยการเฉยนิ่งอยู่ หรือโดยการขยับร่างกายก็ได้)
               แต่การแปรปรวนหรือเปลี่ยนแปลงของรูปร่างกายนั้น บางส่วนมันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง หรือกล่าวอีกอย่างก็คือเป็นการแปรปรวนของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้ถูกผลักดันโดยจิต เพราะรูปร่างกายก็เป็นเหมือนวัตถุทั่วไป เช่น ต้นไม้ หรือก้อนหิน  มันก็ได้ผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกด้วย เช่น เซลล์ผิวหนังก็มีอายุไขหลุดลอกไป เซลล์อื่นก็มีการตายและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา  ระบบย่อยอาหารมีการดูดซึมแล้วก็ขับถ่ายซึ่งก็ขึ้นกับลม น้ำ อุณหภูมิ และปริมาณอาหาร  ระบบหายใจก็ขึ้นกับออกซิเจน  สังเกตได้ก็คือปรากฏการณ์เของร่างกายเหล่านี้ จิตใจไม่บังคับบัญชามันได้โดยตรง เช่น เราบังคับให้ปวดปัสสาวะหรือหยุดปวดไม่ได้ เมื่อเหตุปัจจัยมันเพียงพอมันก็ปวดขึ้นมาเอง  แต่ก็ไม่เสมอไป เช่น บางครั้งการตื่นเต้นมากๆ (ซึ่งเกิดจากจิตใจ) ก็ผลักดันให้ร่างกายเกิดปวดปัสสาวะขึ้นมาได้เช่นกัน
               สำหรับกรณี ศพคนตาย ก็คือสภาพที่มีแต่ฝ่ายรูป ไม่มีฝ่ายนามหรือจิตใจแล้ว  ศพคนตายก็สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยเหตุที่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้เกิดจากฝ่ายจิตใจไปเกี่ยวข้อง เช่น เคลื่อนเพราะมีคนอื่นผลักดัน หรือขยับเพราะความแปรปรวนของธาตุสี่ (สภาพที่มีธาตุลมมากก็เกิดแรงดัน)  ศพคนตายจึงเรียกว่า ไม่มีชีวิต
               กล่าวโดยสรุปก็คือ บางครั้งร่างกายและจิตใจก็มีความสัมพันธ์กัน แต่บางครั้งแต่ละส่วนก็มีการแปรปรวนหรือเปลี่ยนแปลงของมันได้เอง โดยขึ้นกับเหตุปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ หรือเกิดความคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราวขึ้นมา แล้วก็เป็นลักษณะเหมือนอาการหลอกตัวเอง เช่น เอาเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับอดีต หรืออนาคต มาเป็นเหตุให้เกิดความคิดปรุงแต่งต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น