20 ก.ค. 2556

ครั้งที่ ๕๒ กิจกรรมบวชพระใหม่ วัดสุภัททมงคล(สาขาวัดหนองป่าพง ที่ 35)

กิจกรรมการบวชพระ เป็นการสืบต่อพระสงฆ์และพระธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละวัดก็จะมีพิธีการและรูปแบบแตกต่างกันไป ตามสังคม ตามค่านิยม ส่วนภายในจะเป็นพระสงฆ์ได้จริงไหมต้องขึ้นกับตัวของผู้บวชเอง เหมือนการลงทะเบียนเข้าเรียนในโรงเรียน ส่วนจะเรียนจบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนเรียนจบเร็ว บางคนเรียนจบช้า บางคนก็อยู่เป็นปู่เฝ้าโรงเรียน บางคนก็ลาออกกลางครัน บางคนก็ถูกไล่ออก ฯลฯ
 
สำหรับวัดสุภัททมงคล เป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง มีเจ้าอาวาส (พระไพฑูรย์ ขันติโก) ซึ่งเป็นสามเณรองค์แรกของหลวงปู่ชา ฉะนั้น ท่านยังคงรูปแบบตามปฏิปทาสมัยหลวงปู่ชาเอาไว้ แต่ก็มีการผ่อนปรนกันไปบ้างเพื่อหย่อนให้แก่ผู้ที่มีกำลังศรัทธาน้อย เปิดโอกาสเผื่อไว้ว่า บางคน "อาจจะ" มีศรัทธาเติบโตขึ้นได้หากได้รับการอบรมสั่งสอน (แต่ยุคนี้ก็มีน้อยเต็มที เพราะอุปนิสัยจะเปลี่ยนได้ในสามเดือนนั้นคงเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มี "ของเก่า" มากพอ)


เมื่อตัดสินใจชัดเจนแล้ว ก็โกนผม
โกนคิ้ว โกนหนวด ตัดเล็บ ชำระล้างร่างกายให้สะอาด นุ่งชุดขาว
  
 
  นุ่งห่มผ้าขาวจึงเรียกว่า "ผ้าขาว" (ไม่นิยมเรียกว่านาค) เริ่มออกบิณฑบาต เพื่อฝึกให้คุ้นเคยกับกิริยามารยาทและการหาเลี้ยงชีพอย่างนักบวช (เหตุผลหนึ่งที่วัดป่าต้องให้ผ้าขาวออกบิณฑบาตก็เพราะวัดป่ามีพระน้อย ไม่ได้มีปัจจัยสี่ล้นหลามเหมือนในเมือง ผู้คนส่วนใหญ่ใส่บาตรแค่ก้อนข้าวเปล่า ครั้นจะให้พระภิกษุบิณฑบาตหาเลี้ยงผ้าขาวด้วยก็อาจจะไม่พอขบฉัน ขืนได้กินแต่ข้าวเปล่า..เดี๋ยวผ้าขาวผู้ที่ศรัทธาน้อยจะถอดใจซะก่อน)

 ระหว่างเป็นผ้าขาวก็ต้องฝึกนิสัยกิริยามารยาทต่างๆ ตามวัฒนธรรมของสำนัก เช่น วิธีล้างบาตร เช็ดบาตร ฝึกห่มจีวร ซ้อมขานนาคให้คล่องปากและพร้อมเพรียงกัน เลือกผ้าไตรและบริขารเตรียมให้เหมาะสมทั้งสีและขนาด ฯลฯ และทำกิจวัตรต่างๆ เหมือนกับพระภิกษุ เช่น ดูแลเสนาสนะอาวาส ทำวัตรสวดมนต์ ฟังคำอบรมจากอาจารย์ โกนผมทุกวันโกน ขบฉันในภาชนะอันเดียว(ตอนนี้ใช้ชามแทนบาตร) กินมื้อเดียว ฯลฯ จะได้คุ้นเคย ขืนเดินดุ่มๆมาบวชนุ่งเหลืองหัวโล้นโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรก็เหมือนกับเอา "สัตว์ป่ามาปล่อยในเมือง" มารยาทก็จะหยาบกระด้าง ดีไม่ดีสัตว์บางตัวมันจะทำร้ายมนุษย์ซะอีก "หัวโล้นผ้าเหลืองเป็นไม่ยาก แต่จะเป็นพระที่มีจริยวัตรงดงามนั้นไม่ใช่ของง่าย" (ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นเข้าใจหลักธรรมลึกซึ้ง อันนั้นยิ่งยากแสนยาก)
  ระยะเวลาช่วงที่เป็นผ้าขาวก็แล้วแต่โอกาสและข้อจำกัดของแต่ละคน ยิ่งนานก็จะยิ่งมีกริยามารยาทงดงาม (หากได้รับการฝึก และเป็นผู้ฝึกง่าย) สิ่งที่ต้องย้ำกันบ่อยๆ คือสถานภาพ ตอนนี้ "เป็นนักบวชผู้ออกจากเรือนแล้ว" ไม่ใช่ต้องรอวันที่นุ่งผ้าเหลืองจึงจะเรียกนักบวช นั่นมันสถานภาพนักบวชตามประเพณีนิยมภายนอก แค่โกนหัวนุ่งเหลืองใครก็ทำได้ ถ้ากิริยามารยาทและคุณธรรมไม่สมกับเป็นพระ..การบวชนั้นก็ "เป็นหมัน"
  ก็อยู่ฝึกฝนไปเรื่อยๆ รอวันนัดหมายกับพระอุปัชฌาย์ว่าท่านสะดวกจะทำพิธีบวชให้วันไหน ถ้ามาเป็นผ้าขาวใกล้ช่วงเข้าพรรษาก็คงรอไม่นาน เพราะนิยมบวชให้ก่อนวันเข้าพรรษา แต่ถ้าใครมาแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะได้เป็นผ้าขาวอยู่หลายเดือน (อย่างผู้เขียน ก็ใช้เวลาเป็นผ้าขาวอยู่ 3 เดือน)
 
เมื่อถึงกำหนดบวช ก็รับ "บริขาร๘" (ผ้า๔: จีวร,สังฆาฏิ,สบง,ประคต/ เหล็ก๓: บาตร,มีดโกน,เข็ม/ น้ำ๑: ธัมกรก(เครื่องกรองน้ำ) จากพระอาจารย์เพื่อนำไปทำพิธีบวชกับพระอุปัชฌาย์ มีแค่บริขาร๘อย่างนี้เท่านั้นที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ใช้ในการบวช (สิ่งของนอกนั้นมาต่อเติมกันในภายหลังตามนิสัย "ความมากเรื่องของชาวบ้าน" ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด)


 
 การบวชร่วมต้นด้วยการบวชเณร(บรรพชา)จะบวชพร้อมกันกี่คนก็ได้
   แต่การบวชพระ(อุปสมบท)จะกระทำได้ชุดละไม่เกิน ๓ คน
 ตามพระวินัยกำหนดไว้ว่า ถ้าอยู่ในเขตเมืองหาพระร่วมพิธีได้ไม่ยากก็ให้นิมนต์พระสงฆ์ร่วมสังฆกรรม อย่างน้อย ๑๐ รูป แต่ถ้าอยู่ในเขตชนบทหาพระได้ยาก ลดหย่อนให้ใช้เพียง ๕ รูป ก็ได้ 







สำหรับวัดหนองป่าพง จะบวชเณรไว้ก่อน จากนั้นค่อยกำหนดวันบวชพระอีกครั้งภายหลัง ไม่ได้บวชเสร็จในวันเดียวกัน บางทีต้องอยู่เป็นเณรหลายเดือน (ผู้เขียนอยู่เป็นเณร ๕ เดือน) บางรายได้แค่บวชเณรแล้วก็มีเหตุให้สึกไปโดยไม่ได้บวชพระ

ส่วนเรื่อง "เงินใส่ซอง" นั้น สมัยนี้ก็นิยมจัดถวายพระสงฆ์ที่มาร่วมในพิธี เพราะมีค่าพาหนะเดินทางมาไกล ไม่ใช่เดินเท้าเหมือนสมัยก่อน จะใส่ซองมากน้อยก็แล้วแต่ตกลงหารือกันระหว่างผู้บวชและพระอุปัชฌาย์ ไม่ควรไปเทียบกับสมัยพุทธกาล เพราะสมัยนั้นเขาไม่ใช่เงิน "บวชด้วยใจ พระสงฆ์มีมากพอ ไม่ต้องเดินทางนั่งรถไกล"
ส่วนเรื่องพิธีรีตองนอกเรื่องนอกคำสอนนั้น "ชาวบ้านคิดขึ้นเอง" มีทั้งมหรสพ โต๊ะจีน ขบวนแห่ ขี่ช้าง ขี่ม้า ถือหมอน ฯลฯ จนทำให้การบวชกลายเป็น เรื่องใหญ่..แทนที่จะเรื่องง่าย วุ่นวาย..แทนที่จะสงบ สิ้นเปลือง..แทนที่จะเรียบง่าย (ขัดกับวิถีพระตั้งแต่เริ่มบวชซะแล้ว) ต้องจัดให้สมกับความ "หน้าใหญ่" ของเจ้าภาพ บางรายก็หมดเป็นแสน บวชอยู่ได้แค่ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน ยังไม่รู้ดีรู้ชั่วเลยก็สึกซะแล้ว นี่คือประเพณีที่ชาวบ้านหลอกตัวเอง และหลอกคนอื่น หลอกแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่นั่งร่วมพิธีบวช (บุญหรือบาปคิดดูเอง) เพราะตอนกล่าวคำขอบวชมีวรรคหนึ่งที่กล่าวว่า
"สัพพะ ทุกขะ นิสสะระณะ นิพพานะ ฯ"
แปลว่า "สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ ถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อมุ่งพระนิพพาน ฯ"
แต่นี่ตัวเองกำหนดวันสึกเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ได้จะมุ่งพระนิพพานแต่อย่างใด แบบนี้ไม่เรียกว่า "โกหก" เหรอ ถ้าตั้งใจบวชแบบไม่มีกำหนด ขอตั้งใจสู้เต็มที่ก่อน จนสู้ไม่ไหว "ยอมแพ้" แล้วค่อยลาสึกไป อย่างนี้จึงจะตรงไปตรงมาหน่อย


 
 พิธีบวชเสร็จแล้วก็ดำเนินชีวิตเยี่ยงสมณะ ฝึกตนตาม "พระธรรม-วินัย" ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน "ไม่ใช่บวชแล้วยังมาทำตามใจตัวเอง หรือทำตามใจญาติพี่น้อง หรือทำตามใจชาวบ้าน" อย่างนั้นก็ได้เพียงหัวโล้นผ้าเหลือง ไม่ใช่จะได้บุญกุศลอะไร เพราะบุญกุศลเกิดจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนมานุ่งผ้าเหลืองโกนหัวโล้นแล้วจะได้บุญ


หลังจากบวชแล้ว พึงสำนึกเสมอว่า "ชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้ได้มอบให้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์" ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างเก่าแล้ว ตามวินัยก็ให้ถือนิสัย(ฝึกตน)อยู่กับอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ อย่างน้อย ๕ พรรษา (นานกว่านั้นกรณีเป็นผู้เรียนรู้ช้า) ถ้าเร่ร่อนไปเรื่อยโดยไม่อยู่ถือนิสัยให้ครบกำหนด ไปขอพักที่สำนักไหนครูอาจารย์(ที่มีปัญญา)ท่านก็รู้ว่าบุคคลนี้เป็นผู้สอนได้ยาก ไม่อดทน อวดเก่งอวดฉลาด เอาแต่ใจตัว ไม่เคารพพระธรรมวินัย ไม่เคารพอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ควรแก่การอบรมสั่งสอน


"ชีวิตสมณะ" มีหนทางที่ยาวไกล กว่าจะเดินไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน
แต่ก็เป็น "การเดินทางที่มีจุดหมาย
ไม่ใช่ไร้จุดหมายอย่างชาวบ้าน
"ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา" คือ "กำลัง" ที่ต้องหมั่นสร้างเสริมอยู่เสมอตลอดเส้นทาง
ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ตราบนั้นยังเป็น "ผู้ที่ต้องศึกษา" อยู่เรื่อยไป
ระยะทาง...พิสูจน์ม้า
กาลเวลา...พิสูจน์คน

1 ความคิดเห็น: