6 ม.ค. 2556

ครั้งที่ ๕๑ ไม่จำเป็นต้องเนิ่นช้า

ครั้งที่ ๕๑  ไม่จำเป็นต้องเนิ่นช้า

ในยุคที่พิมพ์หนังสือกันเป็นว่าเล่น ถูกผิดไม่รู้  (ขอให้ขายดีไว้ก่อน  บางเล่มก็ Best Seller แต่ Bad Matter) หนังสือธรรมะก็มีมากจนเลือกอ่านไม่ถูก อะไรๆ ก็อ้างว่าเป็นเรื่องธรรมะ  แต่ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นว่า

- ผู้เขียนแต่ละคนพูดเยิ่นเย้อ พูดมากความ สาธยายปัญญาของตน (ก็ด้วยความปรารถนาดีจะให้ผู้อ่านเข้าใจ) แต่ผลข้างเคียงคือ ผู้อ่านยิ่งจับหลักไม่ได้  อ่านไปก็เพลินดีแต่พออ่านจบแล้วก็เลิกกัน ไม่รู้จะทำอะไรต่ออีก  ยิ่งอ่านยิ่งมัน  ยิ่งอ่านยิ่งเพลิน  ก็เลยยิ่งชอบ  แต่ถ้าให้ปฏิบัติ ก็บอก เอาไว้ก่อน

- พระไตรปิฎก มีเนื้อหามาก เพราะมีการนำคำสอนตลอดชีวิตของพระพุทธองค์มารวบรวมไว้ ให้เราเลือกใช้อย่างเหมาะสม "ไม่ใช่เพื่อให้มานั่งจำคำสอนทั้งหมด" ถ้าเรียนอย่างนี้มันเป็นแง่ประวัติศาสตร์ ได้แค่ความรู้ขั้นจดจำและคำนวณ(แบบด้นเดาหรือคาดการณ์)

- ถ้าสังเกตจะเห็นว่า  พระพุทธเจ้าตรัสสอนคนแต่ละคนไม่กี่ครั้ง ไม่กี่บท  เป้าหมายก็เพื่อชำระความหลงผิดให้เขา  ทำให้เขาเกิด "ศรัทธา" (ในคำสอนซึ่งเป็นสัจธรรม มีเหตุผล)   แล้วจากนั้นเขาต้องไปทำความเพียร "วิริยะ" เพิ่มศักยภาพในด้าน "สติ-สมาธิ-ปัญญา" เพื่อให้เข้าใจตามคำสอนได้อย่างถ่องแท้ (บรรลุธรรม) ไม่ใช่แค่จำ-คำนวณ แล้วก็จบกัน  มันไม่ง่ายอย่างนั้น  เขาต้องทำอะไรอีกมากมาย  เหมือนเราอ่านหนังสือคนทางโลกที่เขาประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องผ่านอะไรมามากมาย  ไม่ใช่นั่งคิดเฉยๆแล้วสำเร็จ   (แต่ที่บางคนต้องฟังธรรมบ่อยๆ เพราะเดิมสั่งสมปัญญามาน้อย)   ประเด็นคือ มันไม่จำเป็นต้องรู้มาก หรือรู้หมดทุกเรื่อง เพราะภาษามันเป็นคำปรุงแต่ง จะแต่งใหม่กี่แบบกี่แง่ก็ได้ ไปตามอ่านตามฟังแล้วเมื่อไรมันจะหมด มันไม่มีวันหมดหรอก   เอาแค่พอรู้คร่าวๆ ก่อน พอให้เกิดปัญญาระดับหนึ่ง แล้วลงมือปฏิบัติไป สังเกตศึกษาไปเรื่อยๆ  กาลเวลาจะเพาะบ่มไปเอง

-  ปัจจุบันกลับส่งเสริมกันให้บ้าบาลี บ้าคำสอน แล้วก็เอามาพูดอวดกัน แข่งกันเก่ง แข่งกันจำ สนทนาธรรมคือการเถียงกันเพื่อจะเอาชนะ ("มานะทิฏฐิ"ท่วมหัวยังไม่รู้ตัว  "โทสะ"เผาตัวยังไม่รู้ร้อน)  มานั่งเถียงกันโดยอ้างตำรา อ้างครูอาจารย์   ทั้งที่ตัวเองควรไปฝึกตนให้บรรลุธรรมจริงๆก่อน  ไอ้คนที่นั่งเถียงกันอยู่นี้บรรลุธรรมอะไรหรือยัง  คนที่เขาบรรลุธรรมเขาไม่มานั่งเถียงหรอก  "สอนได้ก็สอน  สอนไม่ได้ก็ปล่อยไป"

-  พวกคนโง่ (ตัวเองไม่ฉลาด ก็อ้างตำรา อ้างครูอาจารย์) ก็มานั่งเถียงกันเรื่องนิพพาน เรื่องพระอรหันต์  มันไม่ใช่ของจะรู้ร่วมกันได้  อุปมาเหมือน  เราแกล้งเอาน้ำโค้กใส่ในขวดน้ำปลา แล้วนำมากิน  พอบางคนเห็นก็(หลง)คิดว่ารสชาติคงจะเค็ม  แต่ความจริงคือมันหวาน  บทเรียนนี้คือ สิ่งที่เราเห็นมันอาจจะหลอกเราเอง เพราะเราอาศัยความจำเดิมแบบหยาบๆเป็นตัวปรุงแต่งเหตุผล   ธรรมะเป็นเรื่อง "ปัจจัตตัง" รู้เฉพาะตัว  (ไปรู้จากที่คนอื่นเขียน คนอื่นพูด มันยังไม่ใช่ปัจจัตตัง)  พระตถาคตจึงได้แค่ บอกทางให้ไปดูไปชิม  ถ้าสาวกไม่ออกเดิน มัวแต่นั่งอ่านคำสอน แล้วเมื่อไรจะไปถึง หรือเมื่อไรจะได้ชิม  ทางเดินที่พระตถาคตพูดบ่อยที่สุด ย้ำบ่อยที่สุด ก็คือ "มรรคองค์ ๘"  แต่แปลกที่ชาวพุทธไม่สนใจ  (ทั้งคนสอนและคนฟัง)   ถ้าทำไม่ครบทุกข้อ ก็ไม่ต้องหวังลมๆแล้งๆ  ส่วนบางคนที่เราเห็นเขาทำแค่บางข้อแล้วบรรลุธรรมได้  นั่นก็เพราะเขาทำข้ออื่นๆ มาเยอะแล้ว  ไม่ใช่ว่าเขาทำแค่ข้อเดียวเหมือนอย่างที่เราเห็น

-  มรรคองค์ ๘  คือ ทางที่ตรงที่สุด  อย่าพยายามหาทางอื่นเลย  ยิ่งหายิ่งหลง  ยิ่งลองยิ่งเนิ่นช้า  หรือถ้าบรรลุอรหันต์ด้วยวิธีอื่น ก็ไม่ใช่พระอรหันต์สาวกในแบบพุทธศาสนา

   ผู้ที่มีฤทธิ์เดช   ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นพระอรหันต์จริง
   ผู้ที่กล้าประกาศตัวเองว่า "ฉันเป็นพระอรหันต์"   ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นพระอรหันต์จริง
   ผู้ที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองเลื่อมใสศรัทธายกย่องว่าเป็นพระอรหันต์   ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นพระอรหันต์จริง
   ผู้ที่มียศสูง   ผู้ที่มีลาภมาก   ผู้ทีมีอายุยืน  ผุ้ที่เจ็บป่วยน้อย  ผู้ที่ผิวพรรณผ่องใส   ผู้ที่มีบริวารมาก  ผู้ที่มีเมตตามาก  ผู้ที่เคร่งศีล  ผู้ปฏิบัติเคร่งครัด  ผู้มีมารยาทดี  ผู้ที่พูดจาไพเราะ  ผู้ที่ท่องจำพระไตรปิฎกได้หมด  ผู้ที่เทศน์เก่งเต็มไปถ้อยคำอันมีเหตุผล   ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นพระอรหันต์จริง
   ทีสำคัญคือ  "ใครเป็นอรหันต์  หรือไม่เป็น  มันเรื่องของเขา"  เราจะไปยุ่งทำไม
   "เรื่องตัวเองไม่สนใจ มัวแต่ไปสนใจเรื่องคนอื่น"  แล้ว "เมื่อไรจะรู้จักตัวเองสักที"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น