6 ธ.ค. 2554

ครั้งที่ ๔๙ ถือศีล ๕ ตลอดชาตินี้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้เกิดในสุคติภพ (คำสอนจากพระโอษฐ์)

อย่าประมาท จงเห็นภัยในความไม่แน่นอนของ "การเกิด"

            คงเคยได้ยินคำสอนในหมู่ชาวพุทธที่ว่า ให้ทาน รักษาศีลห้า แล้วจะได้ไปสู่สุคติ คือเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา  คำกล่าวนี้ไม่ใช่ว่าไม่ถูกเอาเสียเลย แต่มันมีความลึกซึ้งในรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน จะตีความตรงๆ เลยไม่ได้  โดยเฉพาะเรื่องกลไกการเคลื่อนจากชาติเก่าไปภพใหม่ หรือเรียกว่า จุติจิต เพราะถ้าเข้าใจหลักการนี้ถูกต้อง ย่อมจะเห็นความไม่แน่นอนในการเกิดภพชาติถัดไป  จะเกรงภัยในการเกิด และเบื่อหน่ายในการเกิด  จะเลิกเห็นว่า การเกิดเป็นเรื่องที่น่ายินดี แล้วก็ทุ่มเทเตรียมการเพื่อจะไปรับผลบุญชาติหน้า เพราะความคิดแบบนี้มันขัดกันกับความคิดของพระพุทธเจ้า

ที่มา:  อ้างอิงจากข้อความในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (หน้า ๔๐๔-๔๑๑) 
หรือจากพระไตรปิฎก บาลี มหากัมมวิภังคสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๔ หน้า ๓๙๔ ข้อ ๖๐๘   
--------------------------------------------------------
สรุปโดยย่อ (ใช้สำนวนส่วนตัว) มีดังนี้

ข้อที่ ๑.๑ พระพุทธองค์ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
กรรมบาปมีอยู่ กรรมงามมีอยู่ ผลของกรรมบาปมีอยู่ และผลของกรรมงามมีอยู่
ข้อที่ ๑.๒ พระพุทธองค์ไม่ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
กรรมบาปไม่มี กรรมงามไม่มี ผลของกรรมบาปไม่มี และผลของกรรมงามไม่มี

ข้อที่ ๒.๑ พระพุทธองค์ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า
ผู้กระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ บางคนตายแล้วเข้าถึงอบายทุคติวิบาตรนรก
ข้อที่ ๒.๒ พระพุทธองค์ไม่ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
ผู้กระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุกคนตายแล้วเข้าถึงอบายทุคติวิบาตรนรก

ข้อที่ ๓.๑ พระพุทธองค์ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
ผู้กระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ บางคนตายแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้อที่ ๓.๒ พระพุทธองค์ไม่ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
ผู้กระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุกคนตายแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ข้อที่ ๔.๑ พระพุทธองค์ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า
ผู้งดเว้นกระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ บางคนตายแล้วเข้าถึงอบายทุคติวิบาตรนรก
ข้อที่ ๔.๒ พระพุทธองค์ไม่ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า
ผู้งดเว้นกระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ทุกคนตายแล้วเข้าถึงอบายทุคติวิบาตรนรก

ข้อที่ ๕.๑ พระพุทธองค์ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า
ผู้งดเว้นกระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ บางคนตายแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้อที่ ๕.๒ พระพุทธองค์ไม่ยอมรับ คำกล่าวที่ว่า 
ผู้งดเว้นกระทำ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ทุกคนตายแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

            บุคคลใดในโลกแห่งกาลปัจจุบันนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ขี้โลภอยากได้) ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายแล้วเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก ทั้งนี้เป็นเพราะ ในกาลก่อนเขาได้กระทำกรรมบาปไว้ หรือในเวลาตายเขาเพียบพร้อมไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ  อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมา เขาก็จะได้เสวยผลของกรรมงามที่เคยทำไว้ โดยในทันที หรือในกาลอันใกล้ หรือในกาลอันไกล
----------------------------------------------------------------

            ที่ยกมากล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า
-  จุดสำคัญคือ เมื่อเวลาตาย (จุติจิต) ความรู้สึกเราในขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะเข้าสู่อบายทุคติวิบาตรนรก  เพราะแม้จะไม่มากไปด้วยอภิชฌา(โลภ) และไม่มีพยาบาท(โกรธ) แต่ก็ยังมีมิจฉาทิฏฐิอื่นๆ อีก เช่น ฟุ้งซ่าน รำคาญ วิตกกังวล หึงหวง เหงา หดหู่ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิตซึ่้งยังไม่ได้กระทำผิดศีลห้า  อารมณ์ทั้งหลายในช่วงจุติจิตมักจะมีสาเหตุมาจากการนึกถึงกรรมเก่า หรือเหตุการณ์ที่มากระทบในช่วงเวลาขณะนั้น) 
-  ประเด็นที่น่าคิดและควรตระหนักก็คือ ขนาดถือศีลห้าตลอดชีวิตนั้นก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าเมื่อตายแล้วจะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์  ทีนี้ลองนึกย้อนถึงตัวเราในตอนนี้ดูสิ ซึ่งถือศีลห้าได้บ้างไม่ได้บ้าง ให้ทานบ้างเป็นครั้งคราว แล้วอย่างนี้โอกาสของเราจะเป็นอย่างไร  นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมรรคองค์ ๘ ให้ครบทุกข้อ โดยเฉพาะข้อ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ  มรรคข้อเหล่านี้มีอิทธิพลมากในขณะเกิด จุติจิต
-  อย่างไรก็ดี ทั้งการถือศีลและการให้ทานก็เป็นกุศลกรรมคือกรรมอันงาม  ผลของการถือศีลและให้ทานก็ย่อมเป็นไปในในทางกุศลด้วย แต่ว่าจะบังเกิดผลเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่อาจเดาได้ชัดเจน (เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย) ฉะนั้น อย่าประมาท คิดว่าเราทำดีมากแล้วชาติต่อไปเราคงจะได้เกิดดี เพราะ "มันยังไม่พอจะเป็นหลักประกันได้"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น